บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจหรือบุคคลที่คาดว่ามีการติดเชื้อ อุปกรณ์ดังกล่าวต้องสามารถนำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ทั้งระหว่างการเคลื่อนย้ายจากที่พักและระหว่างรอรับการรักษา
ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ รศ. ดร.วันชัย อัศวภูษิตกุล นายธวัชชัย เขียวคำรพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ผศ. สิทธิชัย วงศ์ธนสุภรณ์ จากบริษัท เอ ซี เทค จำกัด ได้ร่วมกันออกแบบและผลิต ”บอร์ดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีชุดบำบัดอากาศสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ” เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่อากาศ ชุดอุปกรณ์สามารถถอดประกอบได้ง่าย ใช้ได้ทั้งในรถพยาบาล รถฉุกเฉิน และเตียงโรงพยาบาล สะดวกในการเคลื่อนย้ายและทำความสะอาด
ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ กล่าวว่าอุปกรณ์ประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ คือส่วนที่จะรองรับลมหายใจและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายออกสู่ภายนอก ส่วนที่จะนำพาอากาศที่ติดเชื้อนี้เข้าสู่ชุดบำบัดอากาศและส่วนของการบำบัดอากาศ หลักการทำงาน คือ เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรับการรักษา เราก็จะให้ผู้ป่วยขึ้นไปนอนบนบอร์ดนี้ หลังจากนั้นก็ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำการครอบส่วนบนของผู้ป่วยด้วยถุงพลาสติก ต่อท่อลมระหว่างส่วนหัวของบอร์ดเข้ากับเครื่องบำบัดอากาศ และจึงเปิดระบบการบำบัดอากาศ อากาศที่ออกจากลมหายใจของผู้ป่วยซึ่งอาจมีสารคัดหลั่งอยู่ด้วยจะถูกดูดเข้าเครื่องบำบัด เพื่อกักและทำลายเชื้อโรคไม่ปล่อยสู่อากาศภายนอก ทำให้อากาศที่ออกมาปลอดจากเชื้อโรค ภายในถุงที่ครอบส่วนบนอยู่ จะมีความดันลบ (Negative pressure) ทำให้ลมหายใจที่ติดเชื้อไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้ แต่จะถูกดูดเข้าไปบำบัดที่เครื่องบำบัด ในตัวเครื่องบำบัดจะประกอบด้วย พัดลม, หลอด UV, Pre-filter และ Hepa filter การเลือกพัดลมและ Filter เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยลมต้องกระจายสม่ำเสมอผ่านไส้กรอง ถ้าลมแรงเกินไปเชื้อโรคจะหลุดรอดไส้กรองไปได้ แต่ถ้าน้อยเกินไปจะไม่สามารถกั้นเชื้อโรคจากถุงที่ครอบส่วนบนได้ และก็จะทำให้ใช้งานไส้กรองได้ไม่เต็มความสามารถ และเนื่องจาก Hepa filter มีราคาแพงจึงต้องเลือกและกำหนดขนาดให้เหมาะสม การใช้ Pre filter จะช่วยยืดอายุการใช้งานของ Hepa filter ได้
บอร์ดนี้สามารถนำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมกับบำบัดอากาศไปด้วย ใช้งานง่าย ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติไม่รู้สึกอึดอัด ถุงที่คลุมหลังจากใช้แล้วสามารถถอดเปลี่ยนได้เลย เมื่อต้องการใช้บอร์ดนี้กับผู้ป่วยรายใหม่ ก็สามารถใช้ได้ทันทีเพียงเปลี่ยนถุงใหม่
โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ผศ. ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ มจธ. ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ รศ. ดร.วันชัย อัศวภูษิตกุล นายธวัชชัย เขียวคำรพ และ ผศ. สิทธิชัย วงศ์ธนสุภรณ์ ได้ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย