ประกาศการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19)

อ้างถึง ประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดรุนแรงในวงกว้างขึ้นและยืดเยื้อยาวนาน เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณื และเพื่อความปลอดภัยของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคโควิด 19 มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดมาตรการการปฏิบัติงานที่บ้านในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดมาตรการการปฏิบัติงานที่บ้านในช่วงการระบาดของโรคโควิด ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้หน่วยงานพิจารณาการเหลี่อมเวลาปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุน โดยกำหนดให้มีบุคลากรมาปฏิบัติงานในสำนักงานระหว่างร้อยละ 50-75 ของบุคลากรในหน่วยงานทั้งหมด
  2. กิจกรรมการประชุม อบรม สัมมนาหรือกิจกรรมอื่นใดที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป ขอให้งดหรือเลื่อนกิจกรรมดังกล่าวออกไปก่อน กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ขอให้จัดการประชุมออนไลน์ หรือ Video Conference แทน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการออนไลน์ได้ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของรองอธิการบดี หรือผู้บริหารระดับคณะ/ สำนัก/ สถาบัน หรือเทียบเท่า สำหรับการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก หน่วยงานสามารถดำเนินการเบิกเบี้ยประชุมได้ตามประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  3. กรณีเกิดปัญหาหรือขัดข้องสำหรับการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ให้รองอธิการบดี หรือผู้บริหารระดับคณะ/ สำนัก/ สถาบัน หรือเทียบเท่า มีอำนาจพิจารณา วินิจฉัย สั่งการได้ตามที่เห็นสมควร และรายงานอธิการบดีเพื่อทราบ

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2563


ประกาศแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนและการสนับสนุนแก่อาจารย์

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 และประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 3): การปฏิบัติการของ สถาบันอุดมศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 โดยให้สถาบันอุดมศึกษาปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากแบบปกติเป็นแบบออนไลน์โดยสมบูรณ์ครบทุกหลักสูตรภายในวันที่ 1 เมษายน 2563 นั้น

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยจึงกำหนดแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนและการสนับสนุนการแก่อาจารย์ระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

  1. การจัดการเรียนการสอนวิชาทฤษฎีแบบออนไลน์
  2. การจัดการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการและโรงประลอง
  3. การจัดการเรียนการสอนสหกิจศึกษา เรียนรู้ร่วมอุตสาหกรรม และการฝึกงาน
  4. การจัดทำวิทยานิพนธ์ และโครงการเพื่อสำเร็จการศึกษา
  5. การวัดและประเมินผลการศึกษา
  6. การปรับแผนการจัดการเรียนการสอน
  7. การสนับสนุนการดำเนินการต่ออาจารย์และบุคลากร

หากอาจารย์ บุคลากร และหน่วยงานมีความประสงค์จะรับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ทาง Facebook Fanpage: KMUTT COVID-19 Learning and Sharing Platform

ขอให้อาจารย์จัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นสำคัญ และหากพบปัญหา หรืออุปสรรคอันเนื่องมาจากประกาศฉบับนี้ ให้แจ้งสำนักงานพัฒนาการศึกษาและบริการ เพื่อหาแนวทางการดำเนินการแก้ไขให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรได้ต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563

ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563


ประกาศข้อปฏิบัติในการดูแลคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้มีประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนและการสนับสนุนแก่อาจารย์ระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนแตกต่างไปจากเดิม นั้น

เพื่อให้ผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความมั่นใจในคุณภาพการเรียนการสอนและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรที่ได้ออกแบบไว้ มหาวิทยาลัยจึงกำหนดข้อปฏิบัติในการดูแลคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ดังนี้

  1. มอบให้คณบดี ซึ่งหมายรวมถึง ผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน และรองอธิการบดี มจธ. ราชบุรี เป็นผู้ดูแลคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่านักศึกษาสามารถเรียนรู้และบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่ออกแบบหลักสูตรไว้
  2. มอบให้คณบดีกำหนดแนวทางในการดูแลคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน โดย
    2.1 สำรวจความพร้อมของผู้เรียนและหลักสูตรต่อการจัดการเรียนการสอน
    2.2 จัดให้มีการปรับแผนการสอนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนการสอนเดิมและรองรับความพร้อมของผู้เรียน ทั้งนี้หากพบว่าอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนขาดทรัพยากรที่จำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอน ให้คณบดีพิจารณาดำเนินการสนับสนุน
    2.3 รวบรวมแผนการสอนที่ปรับแก้ไขของแต่ละรายวิชาในหลักสูตรที่ต้องมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการสื่อสารให้กับผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง
    2.4 ดูแลให้การสอนเป็นไปตามแผนการสอนตามข้อ 2.3 และพิจารณาประสิทธิผลของแต่ละรายวิชาที่จะส่งผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร
  3. ขอให้คณบดีรายงานความก้าวหน้าของการจัดการเรียนการสอนต่อสภาวิชาการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

ประกาศ ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563