ประกาศ สำนักบริหารอาคารและสถานที่ขอความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยงาน ลงทะเบียนเพื่ออนุมัติให้พนักงานที่ไม่มีบัตรการเข้าปฏิบัติงาน

ขอความร่วมมือหัวหน้างานลงทะเบียนอนุมัติให้แก่พนักงาน และลูกจ้างโครงการ รวมถึงผู้มาติดต่อหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย โดยกรอกแบบฟอร์มแสดงตนเข้าปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยช่วงมาตราการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19

แบบฟอร์มแสดงตนเข้าปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19

โดยท่านต้อง Login E-mail ที่เป็นของ Google (@mail.kmutt.ac.th )
คู่มือการกรอกแบบฟอร์ม

หอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ติดต่อหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

LINE: @kmutt_residence
http://www.residencehall.kmutt.ac.th/

ฟีโบ้ มจธ. ส่งมอบ มดบริรักษ์ ชุดแรก ประจำการช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยมิตร ศรีธราคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ รับมอบ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานในการส่งมอบ พร้อมชมการสาธิตการทำงานของนวัตกรรมชุดระบบหุ่นยนต์ฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ และทีมพัฒนา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์” ให้กับหุ่นยนต์ FIBO AGAINST COVID-19: FAC ชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์ม การควบคุมที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยความตั้งใจที่ต้องการนำหุ่นยนต์ให้ทีมแพทย์ พยาบาล ใช้สนับสนุนการตรวจรักษาผู้ป่วยที่พักรักษาตัวด้วยโรค COVID-19 และพบปัญหาด้านการสื่อสารและการเข้าให้การดูแล

ศ. นพ.ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงว่า ทางคณะได้จัดตั้งศูนย์เพื่อทำการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยเฉพาะตึกสถาบันแห่งชาติรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สืบเนื่องมาจากอัตราการระบาดของโรคในระยะเริ่มแรกที่มักเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล และส่งผลให้ผู้ป่วยเรื้อรังโรคอื่น ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นการจัดพื้นที่จำเพาะจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้างได้ การได้รับการสนับสนุนระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ถือเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมหาศาล เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและลดการใช้ทรัพยากรในการป้องกันลงได้ อีกทั้งระบบหุ่นยนต์ฯได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนงานทางการแพทย์ในบริบทต่าง ๆ ตามการใช้งาน

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. เข้าใจถึงปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคCOVID-19 จึงพยายามที่จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการรับมือกับการระบาดของโรคนี้อย่างเต็มกำลัง นำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์นี้ขึ้นมา และขอขอบคุณทางโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ ที่ได้ร่วมมือกันทำงาน และในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะนำพิมพ์เขียว หรือ Engineering Drawing ให้กับภาคเอกชนดำเนินการต่อเพื่อเป็นการกระจายความช่วยเหลือให้ได้มากยิ่งขึ้น

รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ ได้อธิบายถึงภาพรวมระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ ว่าหุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

(1) CARVER เป็น Automated Guided Vehicle (AGV) ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator
(2) SOFA หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถ video call สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real time และ
(3) Service Robot หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ และผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้ผ่าน video call

โดยหุ่นยนต์ทั้ง 3 รูปแบบ จะจัดเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยฟีโบ้
สำหรับโรงพยาบาลที่จะทำการติดตั้งชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ในลำดับต่อไป ได้แก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซี อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง (ในเดือนมิถุนายน) พร้อมกันนี้ ฟีโบ้จะเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing ให้กับบริษัทเอกชน ในสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) เพื่อผลิตตามความต้องการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป

ในอนาคตฟีโบ้วางแผนนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมความสามารถของชุดหุ่นยนต์โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ทำการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนาระบบ Teleconference ระบบบันทึกภาพ ควบคุมบริหารจัดการหุ่นยนต์จากส่วนกลางบนคลาวน์ นอกจากนี้มีแผนพัฒนาระบบ IoT กับอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อใช้ในการบันทึกสัญญาณชีพ และจัดทำเป็นระบบวิเคราะห์ด้วย AI ซึ่งจะต่อโดยตรงกับ Genomics Platform ในพื้นที่อีอีซี

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ที่ได้รับมอบจาก มจธ. ทางโรงพยาบาลจะทำการนำมาทดลองใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งตัวบุคลากรและผู้ป่วย

นักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนย้ายได้ส่งมอบกับรพ.พระมงกุฎเกล้า เคลื่อนย้ายง่าย มีประสิทธิภาพสูง

ทีมนักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบ หรือ Negative Pressure Unit ซึ่งเป็นเครื่องแบบเคลื่อนย้ายได้สามารถติดตั้งได้กับทุกเตียงในโรงพยาบาลและรถพยาบาล ลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำหัตถการ ทางกลุ่มได้ส่งมอบแล้วให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 เครื่อง ผลงานประดิษฐ์ฝีมือของนักวิจัยไทยที่รวมกลุ่มกันของกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ดร. ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ทีมมดอาสา มจธ. เปิดเผยว่า อุปกรณ์นี้เริ่มต้นจากคุณไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และคุณธเนศ นะธิศรี และการรวมกลุ่มกันของนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันทำผลงานต้นแบบ จากนั้นจึงได้มาเริ่มทำเครื่องความดันลบที่มีโรงพยาบาลต่างๆ ติดต่อขอการสนับสนุนเข้ามาจำนวนมาก และขณะนี้ยังขาดแคลน เครื่องความดันลบนี้มีการทำงานของเครื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ

ส่วนที่ 1 Operating Chamber Unit โครงสร้างกล่องทำจากสเตนเลส (Stainless Steel) หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม กล่องโดยรอบทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต สามารถมองเห็นผู้ป่วยด้านในได้ ทำความสะอาดง่ายทั้งจากภายในและภายนอก น้ำหนักน้อยลงยกด้วยคน 2 คนก็สามารถเคลื่อนย้ายได้  ด้านข้าง 2 ด้าน และด้านบนฝั่งศรีษะผู้ป่วย 2 ช่อง ออกแบบให้มีช่องสำหรับยื่นมือเข้าไปด้านในเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ทั้งสองด้าน ทุกช่องมีแผ่นปิด-เปิด เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานและการออกแบบที่มีความลาดเอียง 45 องศา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นจากมุมสูงด้วย และกล่อง chamber ถูกออกแบบให้มีพื้นที่เพิ่มแนวตั้งที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยในเตียงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและไม่อึดอัดมาก หากเทียบกับแบบครึ่งวงกลมและสี่เหลี่ยมที่มีทั่วไปในต่างประเทศ ด้านบนมีช่องสำหรับติดตั้งระบบ negative pressure ventilation unit ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบได้ง่าย และล็อคเข้ากับโครงอะลูมิเนียม

ส่วนที่ 2  Negative pressure ventilation unit with HEPA filtration and UVC germicidal treatment ที่มีหลักการทำงานเหมือนคลีนรูมขนาดเล็ก คือการใช้พัดลมความเร็วสูงดูดอากาศภายใน chamber ออก ผ่านการกรองด้วย HEPA filter เพื่อกรองแบคทีเรีย จากนั้นอากาศจะผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อไวรัสด้วยระบบรังสีจากแสง UVC ก่อนจะปล่อยออกไปภายนอก และจะบังคับให้อากาศใหม่ที่สะอาดจากด้านนอก ผ่านเข้ามาโดยช่องว่างเล็กๆ ในความเร็วสูง เพื่อหมุนเวียนภายใน chamber ซึ่งจะทำให้คุณภาพอากาศในห้องที่ผู้ป่วยพักอยู่ปลอดภัยขึ้น และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยร่วมห้อง รวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

เครื่องความดันลบนี้ต้นทุนในการผลิตต่อเครื่อง 60,000 บาท หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาหลักแสนหรือหลักล้านบาท ปัจจุบันส่งมอบให้กับ รพ.พระมงกุฎเกล้า แล้วจำนวน 2 เครื่อง และอยู่ระหว่างส่งมอบให้กับ รพ.ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 เครื่อง โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 เครื่อง โครงสร้าง แผ่นหลักมีแค่ 3 ชิ้น ทำให้การผลิตและประกอบเร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคเงินสามารถสมทบทุนได้ทาง บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี ERIG กองทุนวิจัยพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ โดย นายไกรพิชิต เมืองวงษ์ เลขที่บัญชี 678-1-95529-2 หรือจะสนับสนุนอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเช่น แผ่นโพลิคาร์บอเนต หรือขอความรู้กลุ่มจิตอาสายินดีเผยแพร่องค์ความรู้สามารถติดต่อ ดร. ปริเวท วรรณโกวิท ได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 089-866-5958  เฟซบุ๊ก Pariwate Varnakovida หรือ อีเมล pariwate@gmail.com

มจธ. เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีแผนติดตั้งที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นแห่งแรก

ทีมอาจารย์และนักวิจัย มจธ. ได้ทำการออกแบบและทดสอบห้องฆ่าเชื้อที่ใช้ระบบพ่นไอระเหยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (HPV) ตามมาตรฐานที่รับรองโดย US.FDA พร้อมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้จัดการโครงการการพัฒนากระบวนการฆ่าเชื้อด้วยละอองฝอยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เปิดเผยว่า การรับมือกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ อันได้แก่ หน้ากากกรองอนุภาค N95 และชุดคลุมปฏิบัติการชนิด Coverall มีความสำคัญมากและจำเป็นต้องมีใช้อย่างต่อเนื่อง แต่จากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าวไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลนและมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน

ทาง มจธ. ทราบถึงปัญหานี้ จึงได้เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรกให้นำระบบที่พัฒนาไปติดตั้งใช้งานที่โรงพยาบาล จากปัญหาในสถานการณ์ที่จำเป็นและเร่งด่วน มจธ. ตั้งเป้าหมายในการทำงานเร็วที่สุด คือ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จะต้องสามารถติดตั้งและทดสอบระบบจริงได้ที่โรงพยาบาล จึงทำการระดมทีมอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาทิเช่น วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมชีวภาพ จุลชีววิทยา และเทคโนโลยีวัสดุ ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายนี้

โดยทีมงานเลือกใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยระบบพ่นไอระเหยของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide Vapor: HPV) เนื่องจากฆ่าเชื้อโรคได้ดีและเหมาะกับการฆ่าเชื้อจำนวนมาก ด้วยต้นทุนต่อการดำเนินงานต่อครั้งที่ต่ำ (ค่าสารเคมีต่ำกว่า 2 บาท/ชิ้น และสามารถฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อครั้ง) ในขณะที่ไม่ลดประสิทธิภาพการกรองของหน้ากาก(แตกต่างจากการใช้รังสี UVC) ทั้งยังเป็นระบบที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration : FDA) ได้อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว โดยมีข้อมูลว่าหน้ากากที่ฆ่าเชื้อโดย HPV สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง

ห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้เป็นห้องระบบความดันเป็นลบ (negative pressure) ขนาด 6×2.5×3.5 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ภายนอก พื้นที่ในห้องประกอบด้วย 1.พื้นที่ฆ่าเชื้อขนาด 3×3 เมตร ซึ่งบรรจุเครื่องผลิตละออง HPV 2.พื้นที่สำหรับเปลี่ยนชุดของผู้ปฏิบัติงาน 3.พื้นที่ตั้งเครื่องควบคุมและจุดรับ-ส่งอุปกรณ์ที่นำมาฆ่าเชื้อ โดยจะอาศัยการปรับปรุงห้องภายในอาคารท่านผู้หญิง ประภาศรี กำลังเอก”(ตึกอุบัติเหตุ) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งจะสามารถรองรับการฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 สูงสุดต่อวันได้ถึง 2,000 ชิ้น หรือชุดคลุมฯ 150 ตัวต่อวัน ดร.ขจรวุฒิ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีการรับรองและใช้เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความชื้นในอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ได้ ทีมงานจึงได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ณ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ของ มจธ. ในห้องทดสอบที่มีการความคุมความชื้น อุณหภูมิ และมีขนาดเดียวกับห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากความร่วมมือของ บริษัท ซิม จำกัด เพื่อศึกษาปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ระยะเวลาการใช้งานและความเข้มข้นของ HPV ที่เหมาะสมที่สุดในการฆ่าเชื้อ

เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากรการแพทย์ ทีมงานมีแผนที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เข้ารับการทดสอบประสิทธิภาพ ว่าอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อปลอดทั้งไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงมีการตรวจสอบโครงสร้างของเส้นใยของหน้ากาก N95 และประสิทธิภาพการกรองซ้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลังการฆ่าเชื้อแล้ว อุปกรณ์ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย นอกไปจากนี้ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราของ มจธ. ยังได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเส้นยางสำหรับคล้องศีรษะและกาวพิเศษสำหรับยึดติดหน้ากาก N95 เพื่อเตรียมไว้สำรองทดแทนหากหน้ากาก N95 บางรุ่นซึ่งอาจมีการชำรุดหรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปหลังการฆ่าเชื้ออีกด้วย

ดร.ขจรวุฒิ เน้นย้ำว่าในส่วนของการดำเนินงานห้องฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นสถานที่จริงนั้นจะต้องมีระบบการทำงานรัดกุม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานได้เตรียมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน (Standard Operating Principles: SOP) ของการบริหารจัดการอุปกรณ์แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้กับโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน ครอบคลุมตั้งแต่ เริ่มการขนส่งอุปกรณ์จากผู้ใช้มาทำการฆ่าเชื้อ การฆ่าเชื้อในห้องฆ่าเชื้อ และการส่งกลับ โดยมีขั้นตอนระบุความเป็นเจ้าของเพื่อการส่งกลับที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะอุปกรณ์ของแต่ละบุคคลนั้นมีขนาดเฉพาะตัว รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพ การระบุจำนวนครั้งของการฆ่าเชื้อซ้ำ และการส่งคืนหลังการฆ่าเชื้อที่มั่นใจได้ว่าอยู่ในสภาวะปลอดเชื้อแก่ผู้ใช้เดิมทุกครั้ง เป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ มจธ. พร้อมส่งมอบระบบฆ่าเชื้อและขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน รวมถึงให้การอบรมบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริงภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นทีมงานทดสอบประสิทธิภาพของห้องฆ่าเชื้อกำลังตัวต้นแบบทำการทดสอบทุกวันที่ตึกสรบ. เขตพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน เพื่อให้สามารถใช้ระบบได้ทันกำหนด

โดยทีมคณะทำงานหลักประกอบด้วย ดร อรรณพ นพรัตน์ ผอ.สรบ ผศ ดร บุณยภัต สุภานิช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คุณทนงค์ ฉายาวัฒนะ สรบ. คุณสุดารัตน์ ดุลสวัสดิ สรบ. นายอภิสิทธิ์ ไทยประยูร นศ.วิศวกรรมชีวภาพ และ นายอรรถพล แกมทอง นศ.วิศวกรรมชีวภาพ

หากหน่วยงานหรือโรงพยาบาลใด มีความสนใจในระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่ มจธ. พัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ ผู้จัดการโครงการฯ โทร. 086972253

ส่งมอบเพิ่มชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนที่ได้ 2 เครื่องให้กับโรงพยาบาลบางละมุง สนับสนุนโดยบริษัทเมืองโบราณ

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ผู้แทนบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) กลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และทีมมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่งมอบ Mobile Negative Pressure Unit หรือชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนที่ได้ จำนวน 2 เครื่อง ให้กับโรงพยาบาลบางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

วิศวกรรมเครื่องกล มจธ. ผลิตบอร์ดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมชุดบำบัดอากาศลดการแพร่กระจายเชื้อโรคมอบโรงพยาบาลราชวิถี

บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจหรือบุคคลที่คาดว่ามีการติดเชื้อ อุปกรณ์ดังกล่าวต้องสามารถนำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ทั้งระหว่างการเคลื่อนย้ายจากที่พักและระหว่างรอรับการรักษา

                ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ รศ. ดร.วันชัย อัศวภูษิตกุล นายธวัชชัย เขียวคำรพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ผศ. สิทธิชัย วงศ์ธนสุภรณ์ จากบริษัท เอ ซี เทค จำกัด ได้ร่วมกันออกแบบและผลิต ”บอร์ดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีชุดบำบัดอากาศสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ” เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่อากาศ ชุดอุปกรณ์สามารถถอดประกอบได้ง่าย ใช้ได้ทั้งในรถพยาบาล รถฉุกเฉิน และเตียงโรงพยาบาล สะดวกในการเคลื่อนย้ายและทำความสะอาด

               ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ กล่าวว่าอุปกรณ์ประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ คือส่วนที่จะรองรับลมหายใจและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายออกสู่ภายนอก  ส่วนที่จะนำพาอากาศที่ติดเชื้อนี้เข้าสู่ชุดบำบัดอากาศและส่วนของการบำบัดอากาศ หลักการทำงาน คือ เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรับการรักษา เราก็จะให้ผู้ป่วยขึ้นไปนอนบนบอร์ดนี้ หลังจากนั้นก็ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำการครอบส่วนบนของผู้ป่วยด้วยถุงพลาสติก ต่อท่อลมระหว่างส่วนหัวของบอร์ดเข้ากับเครื่องบำบัดอากาศ และจึงเปิดระบบการบำบัดอากาศ อากาศที่ออกจากลมหายใจของผู้ป่วยซึ่งอาจมีสารคัดหลั่งอยู่ด้วยจะถูกดูดเข้าเครื่องบำบัด เพื่อกักและทำลายเชื้อโรคไม่ปล่อยสู่อากาศภายนอก ทำให้อากาศที่ออกมาปลอดจากเชื้อโรค ภายในถุงที่ครอบส่วนบนอยู่ จะมีความดันลบ (Negative pressure) ทำให้ลมหายใจที่ติดเชื้อไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้ แต่จะถูกดูดเข้าไปบำบัดที่เครื่องบำบัด ในตัวเครื่องบำบัดจะประกอบด้วย พัดลม, หลอด UV, Pre-filter และ Hepa filter การเลือกพัดลมและ Filter เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยลมต้องกระจายสม่ำเสมอผ่านไส้กรอง ถ้าลมแรงเกินไปเชื้อโรคจะหลุดรอดไส้กรองไปได้ แต่ถ้าน้อยเกินไปจะไม่สามารถกั้นเชื้อโรคจากถุงที่ครอบส่วนบนได้ และก็จะทำให้ใช้งานไส้กรองได้ไม่เต็มความสามารถ และเนื่องจาก Hepa filter มีราคาแพงจึงต้องเลือกและกำหนดขนาดให้เหมาะสม การใช้ Pre filter จะช่วยยืดอายุการใช้งานของ Hepa filter ได้

บอร์ดนี้สามารถนำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมกับบำบัดอากาศไปด้วย ใช้งานง่าย ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติไม่รู้สึกอึดอัด ถุงที่คลุมหลังจากใช้แล้วสามารถถอดเปลี่ยนได้เลย เมื่อต้องการใช้บอร์ดนี้กับผู้ป่วยรายใหม่ ก็สามารถใช้ได้ทันทีเพียงเปลี่ยนถุงใหม่

โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ผศ. ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ มจธ. ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ รศ. ดร.วันชัย อัศวภูษิตกุล นายธวัชชัย เขียวคำรพ และ ผศ. สิทธิชัย วงศ์ธนสุภรณ์ ได้ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

ความสำเร็จครั้งใหญ่ มจธ.- ซัยโจ เด็นกิ.- รพ.พระมงกุฎเกล้า-ม.มหิดล จับมือพัฒนาต้นแบบห้อง True Negative Pressure สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ในรพ.พระมงกุฎเกล้า

20 เมษายน 2563 – ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การส่งมอบระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ และระบบกรองอากาศสำหรับห้อง True Negative Pressure ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และภาคจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนำห้องผู้ป่วยเก่า อาคารตึกอุบัติเหตุ (อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี) ซึ่งมีอายุกว่า 37 ปี ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาปรับปรุง พัฒนาระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ และระบบกรองอากาศเพื่อจัดเป็นห้องผู้ป่วย COVID-19 ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ทางวิศวกรรมของคนไทยที่สามารถพัฒนาสินค้าที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ COVID-19 ได้เอง ซึ่งปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และได้ค่าไม่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลห้อง Negative Pressure ที่ระบุไว้โดยองค์การอนามัยโลก -WHO และหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา-CDC และเกณฑ์ตามคู่มือการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารของสถาบันบำราศนราดูร โดยแบ่งเป็น Cohort Ward 4 ห้อง ห้องละ 9 เตียง และห้อง ICU 5 ห้องรวม 5 เตียง รวมสามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 ได้ทั้งหมด 41 เตียง พื้นที่รวมกว่า 580 ตารางเมตร

ซัยโจ เด็นกิ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและการผลิตภายในประเทศ ซึ่งสามารถผลิตได้จำนวนมาก (Mass Production) โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มาก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทดสอบประสิทธิภาพการกรองอากาศแผ่น Ultrafine Filter ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ในขณะที่เชื้อไวรัสโคโรน่ามีขนาดเฉลี่ย 0.125 ไมครอน อีกทั้งมจธ. ได้ใช้การจำลองทางคณิตศาสตร์ (CFD) เพื่อช่วยในการออกแบบ
สรุปลักษณะเฉพาะของระบบมี ดังต่อไปนี้

  1. Supply Unit ใช้ Fresh Air 100% ที่มีทั้งความร้อน ความชื้น ฝุ่น และเชื้อโรคมาทำให้สะอาด ก่อนนำอากาศเข้ามาภายในห้อง
  2. ระบบ Inverter เมื่อเอา Fresh Air 100% มาทำความเย็น และควบคุมความชื้นให้ต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ตลอดเวลา ปกติต้องกินไฟมากกว่าเดิมถึง 2-3 เท่าของเครื่องปรับอากาศปกติ ทาง ซัยโจ เด็นกิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและพัฒนาระบบ Inverter ด้วยตัวเอง สามารถลดค่าไฟลงเหลือเพียง 30-35% เท่านั้น
  3. เทคนิค Clean to Dirty Air Flow คือการทำให้อากาศสะอาดไหลสู่สกปรก โดยอากาศภายนอก (Fresh Air) จะถูกกรองด้วยฟิลเตอร์ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ลดอุณหภูมิ ปรับความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งถือเป็นอากาศที่สะอาดจะเข้ามาในห้อง ไหลผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ไปสู่ผู้ป่วย โดยอากาศจากบริเวณศีรษะผู้ป่วยซึ่งเป็นจุดที่สกปรกที่สุด จะถูกดูดออกไปกรอง และนำไปทิ้ง จึงปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากผู้ป่วยไปสู่บุคลากรทางการแพทย์
  4. การทำห้องให้เป็น Negative Pressure โดยที่ห้องเดิมไม่ได้ถูกปรับปรุงตามมาตรฐาน Negative Pressure ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ‘ซัยโจ เด็นกิ’ ใช้ความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมร่วมกับ มจธ. ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น อัตราการหมุนเวียนอากาศ (Air Change) และแรงดันห้อง (Room Pressure)
  5. เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการสภาวะอากาศภายในห้องผู้ป่วย รวมถึงการดูแลรักษาระบบปรับอากาศดังกล่าวผ่านหน้าจอ Centralized Control ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณฝุ่น PM2.5 แรงดันห้อง (Room Pressure) อัตราการหมุนเวียนอากาศขาเข้า (Air Change – Fresh Air) อัตราการหมุนเวียนอากาศขาออก (Air Change – Exhaust) และประสิทธิภาพของระบบฟอกอากาศ (% Filter Efficiency) เพื่อบริหารการดูแลรักษาระบบฟอกอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

ด้วยเวลาที่จำกัดเวลาเพียง 10 วัน ทาง ‘ซัยโจ เด็นกิ ได้นำข้อเสนอของมจธ.ใช้เทคนิคการจำลองการไหลของอากาศภายในห้อง ด้วยวิธี Computational Fluid Dynamics (CFD) Simulation พัฒนาสินค้าในเวลาที่จำกัด รวมถึงได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งภายในห้องผู้ป่วย และภายนอกห้องก่อนนำอากาศเสียไปทิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล

อาจารย์ มจธ. ผลิตอุปกรณ์และปรับปรุงกระบวนการ เพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยช่วยโรงงาน ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 30%

บริษัทผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยมีเพียง 11 บริษัท และมีเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทรายใหญ่ที่มีกำลังผลิตสูง โดย รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ และอาจารย์นพณรงค์ ศิริเสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คุณไพศาล ตั้งชัยสิน นักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และ นายทศพร บุญแท้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้ทำงานร่วมกับบริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด หวังช่วยให้โรงงานขนาดใหญ่มีกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว ใช้เงินลงทุนไม่มาก ร่วมกับใช้เครื่องเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual ที่ให้การผลิตต่ำกว่าเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบอัตโนมัติ

รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมการเชื่อม กล่าวว่า บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ที่ทางมจธ.ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยคิดวางแผนและผลิตอุปกรณ์เพื่อเพิ่มกำลังผลิตนั้น เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตที่มีสัดส่วนประมาณ1 ใน 3 ของประเทศ ในช่วงนี้บริษัทเปิดงานการผลิตตลอด โดยเครื่องที่บริษัทใช้งานอยู่นั้นเป็นเครื่องแบบอัตโนมัติ 2 เครื่อง มีกำลังการผลิต โดยประมาณ 64,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และเครื่องแบบกึ่งอัตโนมัติมีกำลังการผลิต โดยประมาณ 16,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และมีการใช้เครื่องเชื่อมเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual จำนวน 60 เครื่อง โดยมีกำลังการผลิต 210,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน (เฉลี่ย 3,500 ชิ้น ต่อเครื่องต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน) ซึ่งทางบริษัทได้มีเพิ่มการทำงานเป็น 2 กะ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตในส่วนของเครื่องผลิตแบบอัตโนมัติสามารถทำได้และทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดเวลาการติดตั้งและการซ่อมบำรุง แต่เนื่องจากขั้นตอนการปรับปรุงต้องมีการปรับตั้งซึ่งอาจจะกระทบกำลังการผลิตในปัจจุบัน และเครื่องจักรยังจำเป็นต้องเร่งการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นทางมจธ. จึงมุ่งไปพัฒนาในส่วนของเครื่องเชื่อมเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual ที่ในบริษัทมีมากถึง 60 เครื่อง และมีกำลังการผลิตรวมถึง 210,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน โดยเครื่องนี้ต้องใช้พนักงานป้อนตัวหูเกี่ยวยางยืด (ear loop) ซึ่งกระบวนการที่ช้าและอีกทั้งต้องใช้ความชำนาญของพนักงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขั้นตอนการเชื่อมหูเกี่ยวกับแผ่นหน้ากากอนามัยด้วยเสียง (ultrasonic) พนักงานที่มีชำนาญสามารถผลิตได้ประมาณ 4,800 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน แต่พนักงานที่ฝึกใหม่และมีจำนวนคนมากกว่า สามารถผลิตได้ประมาณ 1,200-2,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน รวมทั้งคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ

โดยในโครงการนี้ทาง มจธ. ได้เสนอการดำเนินการแบบเร่งด่วน คือ 1.ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานและแก้ไขจุดที่เป็นคอขวดของงานเท่าที่จะทำได้ และ 2. ทำการออกแบบอุปกรณ์เสริมทำให้การเชื่อมหูเกี่ยว เร็ว และแม่นยำ โดยพนักงานไม่ต้องคอยเล็งว่าตรงหรือไม่ และออกแบบหัวเชื่อมอัลตราโซนิกใหม่จากเดิมต้องเชื่อม 4 จุด พลิกผ้า 4 ครั้ง เครื่องนี้จะเชื่อมได้ครั้งละ 2 จุด พลิกผ้า 1 ครั้ง สามารถผลิตได้ประมาณ 5,000-6,000 ชิ้นต่อเครื่อง ต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน ซึ่งถือว่าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยได้ถึง 50% หากพัฒนาเครื่องมือจนใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพโดยผนวกกับระบบกึ่งอัตโนมัติที่กำลังพัฒนาต้นแบบจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 6,000-6,500 ชิ้นต่อเครื่อง ต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน คิดเป็น 360,000 – 390,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และมีคุณภาพดีเสมอกัน โดยเมื่อรวมกับเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบอัตโนมัติ และกึ่งอัตโนมัติแล้วสามารถเพิ่มกำลังการผลิตรวมได้มากกว่า 30% สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่ส่งไปให้โรงงานทดลองใช้เพิ่มกำลังผลิตยังทำอยู่ต่อเนื่อง และจะหาแนวทางการลดการหยิบจับ การรับส่งชิ้นงานให้น้อยลงด้วย

รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะยังอยู่ไปอีกสักระยะ ดังนั้นการเพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยที่ยังคงขาดแคลนต้องดำเนินการต่อ โดยในไทยยังมีโรงงานที่พบปัญหาแบบเดียวกัน หากโรงงานนี้ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้แล้ว เราสามารถกระจายความรู้นี้ส่งต่อไปยังโรงงานอื่นๆ ได้ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่ pr@mail.kmutt.ac.th

KMUTT lecturers assist Thai mask industry by innovating equipment and streamlining the process to boost production by 30%

A team of KMUTT researchers has teamed up with Thai Hospital Products Co., Ltd. to accelerate production for ensuring Thai people sufficient supply. The team has 4 members leading by Assoc. Prof. Dr. Bavornchok Poopat and Mr. Nopnarong Sirisatien, KMUTT lecturers at the Department of Production Engineering. Secondly, Mr. Paisal Tangchaisin is a former student of the Department of Production Engineering. Lastly, Mr. Thossaporn Bunthae is from The Institute of Field Robotics (FIBO).

Assoc. Prof. Dr. Bovornchok Poopat revealed the plan after working with the company to help plan and design special equipment to increase their output. Because of the uninterrupted production, the company runs its automatic machines, a semi-automatic machine, and 60 manual ultrasonic welding machines in 2 shifts to raise the output. The limitation of time for maintenance leads the team to work on the development of 60 manual ultrasonic welding machines rather than the automated machines which cannot afford interruption to make the least effect on the current production plan.

Workers have to manually feed ear loops into a manual ultrasonic welding machine and weld them together with a face mask which slows the process and requires certain skills. The skillful workers can have 4,800 pcs/8 hours while less skilled or new workers can produce only 1,200-2,000 pcs/8 hours and the quality has not been consistent. After the team helps the company to change the working procedure for the workers and install additional equipment, a new ultrasonic welder head, the production can be raised to 5,000-6,000 pcs/ 8 hours or a 50% growth of production capacity. If the prototype is fully developed, the output can be increased to 6,000-6,5000 pcs/machine/8hrs or 360,000-390,000 pcs/60 machines/8hrs. Besides, the total capacity of the new machine combines with both automatic and semi-automatic machines will be 30% higher.

อาจารย์สถาปัตย์ มจธ. พร้อมส่งต่อดีไซน์แบบสถานีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แยกพื้นที่การรอตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง

สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งได้รับเชื้อจากผู้ป่วยระหว่างทำการตรวจและรักษา เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างเช่น หน้ากากอนามัยแบบ N95 มีความขาดแคลน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคอื่น ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานดีไซน์แบบสถานีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 หรือ COVID-19 Test Station ที่เกิดจากการออกแบบของอาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ และ Dr. Martin Schoch อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า เริ่มแรกทางทีมได้ออกแบบตู้ชุดแรกเพื่อใช้สำหรับการตรวจแบบ Nasal Swab Test ซึ่งเป็นการตรวจสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และในบริเวณคอของผู้ป่วย ด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องเข้าใกล้ตัวผู้ป่วยมาก รวมถึงได้ทราบจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ว่าทุกขั้นตอนการตรวจคัดกรอง ตั้งแต่ก่อนตรวจ ระหว่างตรวจ และหลังการเข้ารับการตรวจนั้นล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีผู้มารอตรวจจำนวนมากทำให้เกิดความแออัด จึงคิดต่อเนื่องเป็นงานออกแบบของสถานีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 โดยจะแบ่งเป็น 5 จุด 5 สถานีย่อย ดังนี้ จุดที่ 1 คือ ทำการประเมินว่าเป็นคนไข้ที่เข้าเกณฑ์การตรวจหรือไม่ จุดที่ 2 คือ จุดให้คำปรึกษาหลังจากที่ผ่านการประเมินเข้าเกณฑ์แล้ว จุดที่ 3 Swab Test การตรวจสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและในบริเวณคอ จุดที่ 4 จุดจ่ายยาสำหรับบรรเทาอาการเบื้องต้น ระหว่างรอผลตรวจ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ จุดที่ 5 จุดลงทะเบียนติดตามผล

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่าปัจจุบันทางทีมได้ส่งมอบแบบไปยังโรงพยาบาลแล้ว ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท รพ.เทศบาลนครอุดรธานี กองวิศวกรรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เทศบาลนครนครสวรรค์ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เทศบาลนครพิษณุโลก และกลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมทางการแพทย์ รพ.ศรีสะเกษ และยินดีที่จะส่งมอบแบบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ โดยโรงพยาบาลสามารถนำไปปรับให้เข้ากับพื้นที่และงบประมาณของแต่ละโรงพยาบาลไปดำเนินการก่อสร้างได้เอง โดยจะมีทีมงานอาจารย์คอยให้คำปรึกษาในการนำแบบไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และมีประโยชน์สูงสุดต่อไป อีกทั้งยังได้ทำความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. นำตู้โทรศัพท์เก่ามาประยุกต์ใช้ โดยยึดหลักการที่ว่าทำอย่างไรที่จะใช้งานเป็นสถานีคัดกรองแบบประยุกต์นอกอาคาร เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่โรงพยาบาลชุมชน หน่วยงานสาธารณสุขที่ห่างไกล และต้องการสนับสนุนในช่วงวิกฤต โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ต้องการสอบถามข้อมูล ติดต่อได้ที่อีเมล sunaree.law@mail.kmutt.ac.th หรือ https://bit.ly/TOT-COVID-19-Test-Station

KMUTT architecture lecturers offer hospitals the COVID-19 patient screening sub-station design with specific zones to reduce risk of transmission

As the COVID-19 outbreak continues, healthcare workers become infected during testing and treatment for potentially infected people. While personal protective equipment such as the n95 mask is rare, the design for the COVID-19 test station by Ms. Sunaree Lawanyawatna and Dr. Martin Schoch, architecture lecturers from SoA+D: School of Architecture and Design from KMUTT, has been developed. It is said to help reduce the spread of the disease to medical staff and other hospital patients.

Ms. Sunaree Lawanyawatna, SoA+D: School of Architecture and Design, King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT) disclosed that earlier, the team designed a single booth for conducting a nasal swab. The swab is a method for collecting a test sample of nasal secretions from the back of the nose and the throat by using a polymerase chain reaction or PCR technique. Health care workers must be in very close contact with patients. She learned from interviews with doctors and experts that throughout the process of providing care, during and after the treatment, health care workers face the risks of infection. At each hospital, many patients are waiting, hence crowd gatherings occur. Out of this necessity, her continued ideas of five connected stations of COVID screening areas have emerged. The first station is to assess whether the patient meets the criteria for testing or not. The second is where health workers provide consultation after the assessment. Next is where the nasal swab-test takes place. The fourth is the medication dispensing substation for general symptoms while waiting for results such as painkillers and fever reducer. The last, the fifth substation is the registration point for follow-up.

Ms. Sunaree Lawanyawatna also added that drawing documentations of the design were provided to six hospitals, which are: Samitivej Sukhumvit Hospital, Udon Thani Municipality Hospital, Medical Engineering Division, Ministry of Health, Nakhon Sawan Municipality, Fort Somdej Phranaresuan Maharaj Hospital, Pitsanulok Municipality, Infrastructure and Medical Engineering Subdivision of Sri Saket Hospital, and Khanom Hospital, Nakhon Si Thammarat. The team continues to offer the design to more hospitals, which can be modified to suit the area, required use or budget of each hospital.

Together with the Institute of Field Robotics (FIBO) and TOT Public Company Limited, the team is cooperating on the adaptation of old phone booths for the screening and sample-taking purposes to assist the work of community hospitals and public health agencies in remote areas. Interested parties requiring more information can email sunaree.law@mail.kmutt.ac.th or visit https://bit.ly/TOT-COVID-19-Test-Station