20 เมษายน 2563 – ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การส่งมอบระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ และระบบกรองอากาศสำหรับห้อง True Negative Pressure ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และภาคจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนำห้องผู้ป่วยเก่า อาคารตึกอุบัติเหตุ (อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี) ซึ่งมีอายุกว่า 37 ปี ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาปรับปรุง พัฒนาระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ และระบบกรองอากาศเพื่อจัดเป็นห้องผู้ป่วย COVID-19 ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ทางวิศวกรรมของคนไทยที่สามารถพัฒนาสินค้าที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ COVID-19 ได้เอง ซึ่งปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และได้ค่าไม่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลห้อง Negative Pressure ที่ระบุไว้โดยองค์การอนามัยโลก -WHO และหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา-CDC และเกณฑ์ตามคู่มือการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารของสถาบันบำราศนราดูร โดยแบ่งเป็น Cohort Ward 4 ห้อง ห้องละ 9 เตียง และห้อง ICU 5 ห้องรวม 5 เตียง รวมสามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 ได้ทั้งหมด 41 เตียง พื้นที่รวมกว่า 580 ตารางเมตร
ซัยโจ เด็นกิ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและการผลิตภายในประเทศ ซึ่งสามารถผลิตได้จำนวนมาก (Mass Production) โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มาก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทดสอบประสิทธิภาพการกรองอากาศแผ่น Ultrafine Filter ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ในขณะที่เชื้อไวรัสโคโรน่ามีขนาดเฉลี่ย 0.125 ไมครอน อีกทั้งมจธ. ได้ใช้การจำลองทางคณิตศาสตร์ (CFD) เพื่อช่วยในการออกแบบ
สรุปลักษณะเฉพาะของระบบมี ดังต่อไปนี้
- Supply Unit ใช้ Fresh Air 100% ที่มีทั้งความร้อน ความชื้น ฝุ่น และเชื้อโรคมาทำให้สะอาด ก่อนนำอากาศเข้ามาภายในห้อง
- ระบบ Inverter เมื่อเอา Fresh Air 100% มาทำความเย็น และควบคุมความชื้นให้ต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ตลอดเวลา ปกติต้องกินไฟมากกว่าเดิมถึง 2-3 เท่าของเครื่องปรับอากาศปกติ ทาง ซัยโจ เด็นกิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและพัฒนาระบบ Inverter ด้วยตัวเอง สามารถลดค่าไฟลงเหลือเพียง 30-35% เท่านั้น
- เทคนิค Clean to Dirty Air Flow คือการทำให้อากาศสะอาดไหลสู่สกปรก โดยอากาศภายนอก (Fresh Air) จะถูกกรองด้วยฟิลเตอร์ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ลดอุณหภูมิ ปรับความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งถือเป็นอากาศที่สะอาดจะเข้ามาในห้อง ไหลผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ไปสู่ผู้ป่วย โดยอากาศจากบริเวณศีรษะผู้ป่วยซึ่งเป็นจุดที่สกปรกที่สุด จะถูกดูดออกไปกรอง และนำไปทิ้ง จึงปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากผู้ป่วยไปสู่บุคลากรทางการแพทย์
- การทำห้องให้เป็น Negative Pressure โดยที่ห้องเดิมไม่ได้ถูกปรับปรุงตามมาตรฐาน Negative Pressure ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ‘ซัยโจ เด็นกิ’ ใช้ความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมร่วมกับ มจธ. ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น อัตราการหมุนเวียนอากาศ (Air Change) และแรงดันห้อง (Room Pressure)
- เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการสภาวะอากาศภายในห้องผู้ป่วย รวมถึงการดูแลรักษาระบบปรับอากาศดังกล่าวผ่านหน้าจอ Centralized Control ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณฝุ่น PM2.5 แรงดันห้อง (Room Pressure) อัตราการหมุนเวียนอากาศขาเข้า (Air Change – Fresh Air) อัตราการหมุนเวียนอากาศขาออก (Air Change – Exhaust) และประสิทธิภาพของระบบฟอกอากาศ (% Filter Efficiency) เพื่อบริหารการดูแลรักษาระบบฟอกอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน
ด้วยเวลาที่จำกัดเวลาเพียง 10 วัน ทาง ‘ซัยโจ เด็นกิ ได้นำข้อเสนอของมจธ.ใช้เทคนิคการจำลองการไหลของอากาศภายในห้อง ด้วยวิธี Computational Fluid Dynamics (CFD) Simulation พัฒนาสินค้าในเวลาที่จำกัด รวมถึงได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งภายในห้องผู้ป่วย และภายนอกห้องก่อนนำอากาศเสียไปทิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล