นักวิจัย มจธ. ร่วมกับทีมแพทย์สร้าง ‘COVID BOT’ AI Chatbot ตัวช่วยประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19

ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ทีมแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลต้องรองรับจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ความวิตกกังวลของคนในสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งสำคัญคือ วิธีการที่สามารถช่วยลดความวิตกกังวล รวมทั้งสามารถคัดกรองเบื้องต้น ทำให้จำนวนผู้ที่ไม่เข้าข่าย หรือไม่มีอาการเข้าไปรับการตรวจลดลง ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว และรักษาทรัพยากรทางการแพทย์ได้ทำหน้าที่ได้อย่างประสิทธิภาพสูงสุดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

รศ. ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ประธานหลักสูตรนาโน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าทีมคลัสเตอร์วิจัยนวัตกรรมอนาคต (Futuristic Research Cluster of Thailand หรือ FREAK Lab ) ร่วมมือทีมโปรแกรมเมอร์ และทีมแพทย์ที่เป็นศิษย์เก่าของ Junior Science Talent Project (JSTP) หรือ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน ได้ร่วมมือในการพัฒนา ‘COVID BOT’ ซึ่งเป็นแชตบอตตัวช่วยในการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 ผ่านหมอ (เสมือนจริง) ในระบบ AI ผ่านทาง https://www.facebook.com/covid19bot โดยหลักการในการประเมินความเสี่ยงและข้อแนะนำในแชตบอตเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์

รศ. ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย กล่าวว่า เราอยู่ในยุคดิจิทัลและผู้คนส่วนใหญ่ก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การสอบถามอาการผ่านโทรศัพท์สายด่วนอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะคนมักคิดไม่ออกว่าโทรไปแล้วจะเริ่มประโยคแรกว่าอะไร และจะคุยอย่างไรต่อ ผมและคณะทำงานจึงคิดเร่งสร้างเครื่องมือนี้ขึ้น เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ทั้งใช้ในแง่ของการสื่อสารและการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ซึ่งในขณะนั้น (ช่วงต้นเดือนมีนาคม) ยังไม่มีเครื่องมือคัดกรองบนแพลทฟอร์มดิจิทัล หรือโซเชี่ยลมีเดียออกมา ลักษณะการทำงานของแชตบอตก็จะเหมือนกับการไปโรงพยาบาล พบหมอเพื่อประเมินความเสี่ยง เมื่อคุณคลิกตอบไปเรื่อยๆ ท้ายสุดก็จะมีผลประเมินออกมาให้คุณทราบทันที ในกรณีที่ขึ้นคำตอบว่า ‘คุณมีโอกาสเสี่ยง’ ก็จะมีคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับคุณ พร้อมข้อปฏิบัติตนระหว่างอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง หลังจากนั้น 1 วันจะมีการแชตกลับมาติดตามอาการต่อ หรือหากไม่เป็นอะไร ก็จะมีคำแนะนำที่เข้าใจง่ายให้กับคุณ แต่หากคำตอบคือ ‘เสี่ยงมากๆ’ ก็ควรไปพบแพทย์ โดยแนะนำให้โทรไปที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งรถพยาบาลมารับ แทนที่จะเดินทางเข้าโรงพยาบาลไปด้วยตัวเอง เพราะนั่นคุณอาจจะกำลังเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับคนอื่นทันที

รศ. ดร.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ‘COVID BOT’ จะสามารถช่วยได้อย่างดีในกรณีที่หากมีการแพร่ระบาดและผู้คนเริ่มแพนิก พร้อมใจกันไปโรงพยาบาล โดยที่หนึ่งในนั้นอาจจะมีผู้ติดเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัวปะปนอยู่ คนนั้นจะเป็นผู้ส่งต่อเชื้อได้ และที่โรงพยาบาลก็จะกลายเป็นสถานที่แพร่เชื้อให้กับคนได้อีกจำนวนมาก ดังนั้นเครื่องมือนี้จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อีกทางหนึ่ง เรามี ‘COVID BOT’ ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้มีผู้ใช้งานในวงกว้างออกไปกว่า 58 ประเทศ และมีหลายประเทศขอนำแชตบอตนี้ไปปรับใช้อีกด้วย

ทีมงานพัฒนา
• รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย (FREAK Lab, Sensor Technology Lab – KMUTT, JSTP)
• นายณัฐชนน นินยวี (Codustry.com, FREAK Lab)
• นายพัทน์ ภัทรนุธาพร (Massachusetts Institute of Technology – MIT, ศิษย์เก่า JSTP)
• นพ.กฤษพร สัจจวรกุล (ศิษย์เก่า JSTP)
• พญ.แจ่มจันทร์ จันทร์แจ้ง (ศิษย์เก่า JSTP)
• นพ.พีรวัศ กาญจนเบญจา (ศิษย์เก่า JSTP)
• พญ.ฐิติกานต์ วังอาภากุล (ศิษย์เก่า JSTP)
• นพ.พร้อมพงศ์ โยธาราษฎร์ (ศิษย์เก่า JSTP)
• ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ (สถาบันการเรียนรู้ มจธ, ศิษย์เก่า JSTP)
• นายปองณัฐ เครือศรี (FREAK Lab, มจธ.)