BANGMOD MARKETPLACE

BANGMOD MARKETPLACE
ขายสนุก ช้อปสนั่น จับมือกันพ้นวิกฤต

พื้นที่ชุมชนออนไลน์ เปิดให้กับประชาคม มจธ. เสนอสินค้าบริการที่หลากหลาย ไม่จำกัดประเภท อาทิ เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย
เครื่องประดับ บริการบ้านพัก บริการด้านไอที บริการด้านสื่อโฆษณาและการตลาด

พึ่งพาและเกื้อกูลกันในช่วงภาวะวิกฤต

กลุ่มเฟชบุ๊ก: Bangmod Marketplace

ส่งมอบเพิ่มชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนที่ได้ 2 เครื่องให้กับโรงพยาบาลบางละมุง สนับสนุนโดยบริษัทเมืองโบราณ

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ผู้แทนบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) กลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และทีมมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่งมอบ Mobile Negative Pressure Unit หรือชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนที่ได้ จำนวน 2 เครื่อง ให้กับโรงพยาบาลบางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

นักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนย้ายได้ส่งมอบกับรพ.พระมงกุฎเกล้า เคลื่อนย้ายง่าย มีประสิทธิภาพสูง

ทีมนักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบ หรือ Negative Pressure Unit ซึ่งเป็นเครื่องแบบเคลื่อนย้ายได้สามารถติดตั้งได้กับทุกเตียงในโรงพยาบาลและรถพยาบาล ลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำหัตถการ ทางกลุ่มได้ส่งมอบแล้วให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 เครื่อง ผลงานประดิษฐ์ฝีมือของนักวิจัยไทยที่รวมกลุ่มกันของกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ดร. ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ทีมมดอาสา มจธ. เปิดเผยว่า อุปกรณ์นี้เริ่มต้นจากคุณไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และคุณธเนศ นะธิศรี และการรวมกลุ่มกันของนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันทำผลงานต้นแบบ จากนั้นจึงได้มาเริ่มทำเครื่องความดันลบที่มีโรงพยาบาลต่างๆ ติดต่อขอการสนับสนุนเข้ามาจำนวนมาก และขณะนี้ยังขาดแคลน เครื่องความดันลบนี้มีการทำงานของเครื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ

ส่วนที่ 1 Operating Chamber Unit โครงสร้างกล่องทำจากสเตนเลส (Stainless Steel) หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม กล่องโดยรอบทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต สามารถมองเห็นผู้ป่วยด้านในได้ ทำความสะอาดง่ายทั้งจากภายในและภายนอก น้ำหนักน้อยลงยกด้วยคน 2 คนก็สามารถเคลื่อนย้ายได้  ด้านข้าง 2 ด้าน และด้านบนฝั่งศรีษะผู้ป่วย 2 ช่อง ออกแบบให้มีช่องสำหรับยื่นมือเข้าไปด้านในเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ทั้งสองด้าน ทุกช่องมีแผ่นปิด-เปิด เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานและการออกแบบที่มีความลาดเอียง 45 องศา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นจากมุมสูงด้วย และกล่อง chamber ถูกออกแบบให้มีพื้นที่เพิ่มแนวตั้งที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยในเตียงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและไม่อึดอัดมาก หากเทียบกับแบบครึ่งวงกลมและสี่เหลี่ยมที่มีทั่วไปในต่างประเทศ ด้านบนมีช่องสำหรับติดตั้งระบบ negative pressure ventilation unit ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบได้ง่าย และล็อคเข้ากับโครงอะลูมิเนียม

ส่วนที่ 2  Negative pressure ventilation unit with HEPA filtration and UVC germicidal treatment ที่มีหลักการทำงานเหมือนคลีนรูมขนาดเล็ก คือการใช้พัดลมความเร็วสูงดูดอากาศภายใน chamber ออก ผ่านการกรองด้วย HEPA filter เพื่อกรองแบคทีเรีย จากนั้นอากาศจะผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อไวรัสด้วยระบบรังสีจากแสง UVC ก่อนจะปล่อยออกไปภายนอก และจะบังคับให้อากาศใหม่ที่สะอาดจากด้านนอก ผ่านเข้ามาโดยช่องว่างเล็กๆ ในความเร็วสูง เพื่อหมุนเวียนภายใน chamber ซึ่งจะทำให้คุณภาพอากาศในห้องที่ผู้ป่วยพักอยู่ปลอดภัยขึ้น และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยร่วมห้อง รวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

เครื่องความดันลบนี้ต้นทุนในการผลิตต่อเครื่อง 60,000 บาท หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาหลักแสนหรือหลักล้านบาท ปัจจุบันส่งมอบให้กับ รพ.พระมงกุฎเกล้า แล้วจำนวน 2 เครื่อง และอยู่ระหว่างส่งมอบให้กับ รพ.ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 เครื่อง โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 เครื่อง โครงสร้าง แผ่นหลักมีแค่ 3 ชิ้น ทำให้การผลิตและประกอบเร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคเงินสามารถสมทบทุนได้ทาง บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี ERIG กองทุนวิจัยพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ โดย นายไกรพิชิต เมืองวงษ์ เลขที่บัญชี 678-1-95529-2 หรือจะสนับสนุนอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเช่น แผ่นโพลิคาร์บอเนต หรือขอความรู้กลุ่มจิตอาสายินดีเผยแพร่องค์ความรู้สามารถติดต่อ ดร. ปริเวท วรรณโกวิท ได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 089-866-5958  เฟซบุ๊ก Pariwate Varnakovida หรือ อีเมล pariwate@gmail.com

มจธ. มอบสวัสดิการช่วยเหลือนักศึกษาด้วยความห่วงใย

  • ปรับทุนจ้างงานให้เป็น “Work from Home”
  • ขยายช่วงเวลาสัมภาษณ์เพื่อรับ ทุนการศึกษาออนไลน์
  • ประกันภัยส่วนบุคคลคุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา
  • คลินิคเสริมสร้างกำลังใจ Tele-Counseling
  • ลดค่าหอพักของมหาวิทยาลัย
  • Continuous Service on Call” VolP
  • 4 Mbps Unlimited Internet Package บนหมายเลขและเครือข่ายเดิมที่นักศึกษาใช้อยู่ (เร็วๆนี้)
  • เปิดสายด่วน 24 ชม. 0-2470-9090

ข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษายน 2563

มจธ. มีภารกิจในการดูแลการสนับสนุนทุนการศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล็งเห็นความสำคัญในการให้โอกาสทางการศึกษากับนักศึกษา ในแต่ละปีการศึกษามีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียนของนักศึกษา

มจธ. มีภารกิจในการดูแลการสนับสนุนทุนการศึกษา พร้อมกับการพัฒนานักศึกษาผู้ได้รับทุนช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้ใช้ชีวิตในรั้ว มจธ. อย่างมีคุณภาพทั้งด้านการเรียนและชีวิตส่วนตัว พร้อมออกไปใช้ชีวิตในสังคมและเป็นพลเมืองที่ดี

เราเชื่อมั่นว่าไม่มีศิษย์คนใดที่จะไม่สำเร็จการศึกษาจาก มจธ. เพราะปัญหาทางการเงิน

มจธ.มอบเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

มจธ. มอบเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อส่งต่อไปให้อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ของชุมชนนำไปใช้ขณะออกปฏิบัติหน้าที่

ประกาศสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2562

หากพบปัญหารายวิชาไม่ครบตามโครงสร้างหลักสูตร ขอให้นักศึกษารีบดำเนินการติดต่อกับภาควิชาที่นักศึกษาสังกัดโดยด่วน
หรือติดต่อ
ID Line: @regiskmutt
Inbox: m.me/REGISTKMUTT

ประกาศขยายเวลาการปิดสถานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นการชั่วคราว

อนุสนธิประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ขยายเป็นวงกว้าง ประกอบกับนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน 2563 ได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคเป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม นั้น

เพื่อให้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตการในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ของทางราชการที่มีการกำหนดเพิ่มเติม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. 2541 จึงออกประกาศมหาวิทยาลัยฉบับนี้ โดยให้

  1. ประกาศมหาวิทยาลัยฯ เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 7 ยังคงมีผลบังคับใช้
  2. ให้เปลี่ยนแปลง ข้อ 2 ของประกาศมหาวิทยาลัยฯ เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 7 โดยขยายเวลาการปิดสถานที่ของมหาวิทยาลัยทุกพื้นที่การศึกษาเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ประกาศ ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

แบบสำรวจความประสงค์ขอความช่วยเหลือบริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Data Package) ผ่านโทรศัพท์มือถือ สำหรับนักศึกษา

ในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) หากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ท่านใดประสงค์ขอความช่วยเหลือบริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Data Package) ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการเรียน ติดตามข่าวสาร รวมถึงเพื่อติดต่อสื่อสารกับมหาวิทยาลัยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

***โดยนักศึกษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนค่าบริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Data Package)***

มหาวิทยาลัยฯ จึงต้องขอข้อมูลจากแบบสำรวจนี้เพื่อเจรจากับผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งความสามารถในการให้ความช่วยเหลือจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ให้บริการ

ขอความร่วมมือนักศึกษาแจ้งความประสงค์ผ่านแบบฟอร์มนี้
bit.ly/kmutt-sim
**นักศึกษาต้อง login ผ่าน @mail.kmutt.ac.th**

ภายในวันอังคารที่ 7 เมษายน 2563