ผู้เขียน: KANNIKA SON
ข้อปฏิบัติก่อนการฉีดวัคซีน-วันฉีดวัคซีน-หลังฉีดวัคซีน
มจธ. รับมอบน้ำดื่มจากผู้มีจิตศรัทธา
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ตัวแทน มจธ. รับมอบน้ำดื่มมูลค่ามากกว่า 16,000 บาท จาก
ด.ช.ธนัท ทรวงสุรัตนกุล เเละครอบครัว
น.ส.ปนันทร์พร จิรโชตินิธิภัทร์ และครอบครัว
น.ส.มานี ตินะกุล เเละครอบครัว
น.ส.นันทภัส กาญจโนภาศ เเละครอบครัว
น.ส.กัชชลา ธนานุวัฒน์วัฒนา เเละครอบครัว
เพื่อให้ มจธ. ส่งต่อน้ำใจนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป


มจธ. ส่งมอบจุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อ 6 เขต กทม. รับมือ COVID-19
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จับมือกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT) จัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตใน กทม. รับมือการระบาดโควิด-19

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ กล่าวว่า จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ ได้รับการพัฒนามาจากจุดตรวจโควิด-19 รุ่นแรก ที่ทางคณะผู้จัดทำได้ผสานความเชี่ยวชาญทั้งในด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ NT ผลิตขึ้นและนำส่งให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จ.จันทบุรี เมื่อปลายปี 2563 เพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยในครั้งนี้จุดตรวจจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียงจุดคัดกรองซึ่งใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพียงตู้เดียวเท่านั้น เนื่องด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตนี้มีพื้นที่จำกัด จึงต้องการจุดตรวจที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทางทีมผู้จัดทำจึงได้ออกแบบตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นห้องปฏิบัติงานหัตถการของบุคคลากรทางการแพทย์ให้มีสภาวะแรงดันอากาศที่เป็นบวก คือ มีแรงดันอากาศภายในสูงกว่าแรงดันอากาศภายนอก ป้องกันอากาศจากด้านนอกไหลเข้ามาด้านใน ห้องความดันบวกเป็นสภาวะที่ใช้ในห้องสะอาด (clean room) หรือห้องที่ควบคุมความสะอาด ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในห้อง มีการติดตั้งระบบกรองอากาศคุณภาพสูงที่มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อไวรัส เครื่องปรับอากาศสำหรับทำความเย็น และมีอินเทอร์คอมสำหรับสื่อสารกับผู้ที่รอรับการตรวจด้านนอก การผลิตจุดตรวจโควิด-19 ด้วยตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถประหยัดและลดงบประมาณต้นทุนการผลิตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ทางศูนย์บริการสาธารณสุขได้แจ้งว่า การสร้างจุดตรวจคัดกรองโรคในลักษณะนี้ ยังสามารถพัฒนาเพื่อใช้ต่อเนื่องในอนาคตสำหรับการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจประเภทอื่น เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคไอกรน เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้ส่งมอบให้กับ ศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุ และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา และมีกำหนดการผลิตส่งมอบให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 4 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 เขตคันนายาว ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 เขตยานนาวา ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 เขตดินแดง และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 เขตหนองจอก

การดำเนินงานจัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะในครั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากทุกๆภาคส่วน และต้องขอขอบคุณที่ทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ร่วมบริจาคผ่านมายัง “โครงการบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19” ที่บัญชีธนาคารของมหาวิทยาลัย บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ. เลขที่ 237-2-00006-3 นอกจากนี้ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT) ที่ได้สนับสนุนตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ทาง มจธ. โดยมีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ พร้อมทั้งพันธมิตรท่านอื่นๆของ มจธ. ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญ ในการประสานและดำเนินงานจนสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี
หากหน่วยงานแพทย์ใดมีความประสงค์ที่จะรับการสนับสนุนจุดตรวจคัดกรอง สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ประสานงานการรับบริจาคกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19


คณะสถาปัตย์ฯ มจธ. ส่งมอบ “สถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร” รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา และรพ.ศรีสังวาลย์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและออกแบบ “จุดตรวจนอกอาคารแบบครบวงจร” ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดคัดกรองโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ภายใต้แรงดันอากาศบวก แบบติดตั้งนอกอาคาร เพื่อลดการแพร่กระจาย และป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ผลงานการวิจัยและออกแบบโดยทีมอาจารย์และนักวิจัยจาก Humanitarian Design Lab กลุ่มปฏิบัติการวิจัยเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดยอาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ และ Dr. Martin Schoch ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สำหรับจุดตรวจนอกอาคารแบบครบวงจร ได้ถูกพัฒนาให้เป็นสถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร โดยแบ่งจุดให้บริการออกเป็น 6 จุด ประกอบด้วย จุดรับลงทะเบียน จุดให้คำปรึกษาโดยทีมแพทย์ การเงิน จุดรับยาและอุปกรณ์ จุดตรวจหัตถการ และจุดลงทะเบียนติดตามผล จึงช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยในขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรับมือกับการคัดกรองผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยผลงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมในการแก้ปัญหาและบรรเทาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ หัวหน้าโครงการและนักวิจัย Humanitarian Design Lab กล่าวว่า ปัจจุบันได้ส่งมอบและติดตั้งสถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร สำหรับโรงพยาบาลในชุมชน ไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้นำไปใช้ประโยชน์โดยจัดตั้งเป็นคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARI CLINIC) โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โดยพบว่า ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรมีความมั่นใจในความปลอดภัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน นอกจากการคัดกรองผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังสามารถใช้เป็นจุดตรวจคัดกรองวัณโรค โรคหวัด และโรคทางระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์งานออกแบบ เลขที่คำขอจดเเจ้ง 386675 สำหรับโรงพยาบาลใดที่ต้องการข้อมูลและความช่วยเหลือทางด้านผลงานออกแบบ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล sunaree.law@mail.kmutt.ac.th
ช่องทางการลงทะเบียนรับวัคซีน
แม้ว่า มจธ. อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 หากนักศึกษามีความประสงค์ที่จะรับวัคซีน และมีช่องทางอื่นในการเข้าถึงวัคซีนได้ ควรพิจารณาลงทะเบียนก่อน เพื่อให้ได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด

ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา หุ่นยนต์ส่งอาหารและยา “มดพิทักษ์“
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย “กลุ่มนักศึกษาเก่าบางมด” ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา หุ่นยนต์ส่งอาหารและยา “มดพิทักษ์” จำนวน 10 ตัว เพื่อมอบให้โรงพยาบาล 11 แห่ง ในจังหวัดราชบุรี
โดยสามารถบริจาคผ่านบัญชี “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ. เลขที่บัญชี 237-2-00006-3 โปรดวงเล็บใน slip ว่า เพื่อ “มดพิทักษ์”
***เงินบริจาคสนับสนุน สร้างหุ่นยนต์ “มดพิทักษ์” สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า***
ส่งหลักฐานการโอนเงินพร้อม ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่
ส่งถึง คุณอริยา พรหมสุภา
ID line: ka-kib-ja
ผนึกกำลัง ประสานความรู้ และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ตัวแทนมดอาสาต้านภัยโควิด 19 มจธ. นำของบริจาคจากบริษัท ผลิดา จำกัด และบริษัทแอคท์ นาว ซิลเดรนส์ คอนซัลติ้ง จำกัด ส่งมอบให้กับ รพ.
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนมดอาสาต้านภัยโควิด 19 มจธ. นำของบริจาคจากบริษัท ผลิดา จำกัด และบริษัทแอคท์ นาว ซิลเดรนส์ คอนซัลติ้ง จำกัด อาทิ หน้ากาก N95 ชุดป้องกัน PPE น้ำยาฆ่าเชื้อ ผลิดภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย อาหารสำเร็จรูป ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 3 และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป


มอบความช่วยเหลือชุมชนหมู่ 6 ในเขตทุ่งครุ ผ่านตู้ปันสุข
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนมดอาสาต้านภัยโควิด 19 มจธ. มอบความช่วยเหลือชุมชนหมู่ 6 ในเขตทุ่งครุ โดยนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ผ่านตู้ปันสุข รวมถึงได้สอบถามเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19
เชิญชวนร่วมแบ่งปันน้ำใจ บริจาคสิ่งของและของใช้จำเป็นเพื่อส่งต่อให้ชุมชน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ไข่ ยาแก้ไข้ สบู่ล้างมือ และขนมให้เด็กๆ ได้ที่ ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี มจธ. บางมด (ตลอด 24 ชั่วโมง)
มจธ. ร่วมบริจาคกล่องที่ใช้แล้วรอบที่ 2 เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่งมอบกล่องลังที่ใช้แล้ว เป็นครั้งที่ 2 จำนวนรวมกว่า 300 กิโลกรัม ให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยมี คุณนิพนธ์ ดลสู่สุขหทัย หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์ราษฎร์บูรณะ คุณพิธาน ลำปอง ผู้ช่วยหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์ราษฎร์บูรณะ พร้อมด้วยคณะดำเนินงาน เป็นผู้รับมอบกล่องและลังกระดาษที่ใช้แล้ว ภายใต้โครงการ “ไปรษณีย์ re Box กล่อง Box บุญ” เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ต่อไป กิจกรรมดังกล่าวนี้ส่งเสริมแนวคิดและวิถีปฏิบัติที่ดีในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มนักศึกษา Green Heart เป็นแกนนำหลักในการประชาสัมพันธ์และดำเนินโครงการนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก องค์กร คณะ ภาควิชาต่างๆ บุคลากรนักศึกษา และประชาชนร่วมกันบริจาค กิจกรรมนี้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 12 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ