กลุ่มนักศึกษาเก่า มจธ. ร่วมกับ มจธ. ส่งมอบหุ่นยนต์มดพิทักษ์ 4 ชุด รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน และอีก 3 รพ.จังหวัดราชบุรี

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 กลุ่มนักศึกษาเก่า มจธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ดำเนินการส่งมอบหุ่นยนต์ขนส่งยาและอาหาร “มดพิทักษ์” ที่ดำเนินการจัดทำขึ้นภายใต้โครงการ “มดพิทักษ์ ช่วยวิกฤตโควิด-19” รวม 4 ชุด ให้กับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 1 ชุด โดยมี ผศ.สนั่น สระแก้ว หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และคุณพงษ์เจริญ รัชตะธรรมสุข เป็นผู้แทนในการส่งมอบ และโรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลปากท่อ โรงพยาบาลวัดเพลง และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จอมบึง

ซึ่งทาง มจธ. ได้มอบให้คุณพงษ์เจริญ รัชตะธรรมสุข จากบริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เป็นผู้แทนส่งมอบหุ่นยนต์ เพื่อช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย และรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในขณะนี้ โครงการ “มดพิทักษ์ ช่วยวิกฤตโควิด-19” เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มมดอาสา มจธ. กลุ่มนักศึกษาเก่า มจธ. และบริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่แต่ละภาคส่วนมีอยู่ ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อการสนับสนุนทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

คณะสถาปัตย์ฯ มจธ. ส่งมอบ “สถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร” รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา และรพ.ศรีสังวาลย์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและออกแบบ “จุดตรวจนอกอาคารแบบครบวงจร” ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดคัดกรองโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ภายใต้แรงดันอากาศบวก แบบติดตั้งนอกอาคาร เพื่อลดการแพร่กระจาย และป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ผลงานการวิจัยและออกแบบโดยทีมอาจารย์และนักวิจัยจาก Humanitarian Design Lab กลุ่มปฏิบัติการวิจัยเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดยอาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ และ Dr. Martin Schoch ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)     

            สำหรับจุดตรวจนอกอาคารแบบครบวงจร ได้ถูกพัฒนาให้เป็นสถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร โดยแบ่งจุดให้บริการออกเป็น 6 จุด ประกอบด้วย จุดรับลงทะเบียน จุดให้คำปรึกษาโดยทีมแพทย์ การเงิน จุดรับยาและอุปกรณ์ จุดตรวจหัตถการ และจุดลงทะเบียนติดตามผล จึงช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยในขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรับมือกับการคัดกรองผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยผลงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมในการแก้ปัญหาและบรรเทาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19

              อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ หัวหน้าโครงการและนักวิจัย Humanitarian Design Lab กล่าวว่า ปัจจุบันได้ส่งมอบและติดตั้งสถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร สำหรับโรงพยาบาลในชุมชน ไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้นำไปใช้ประโยชน์โดยจัดตั้งเป็นคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARI CLINIC) โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โดยพบว่า ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรมีความมั่นใจในความปลอดภัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน นอกจากการคัดกรองผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังสามารถใช้เป็นจุดตรวจคัดกรองวัณโรค โรคหวัด และโรคทางระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์งานออกแบบ เลขที่คำขอจดเเจ้ง 386675 สำหรับโรงพยาบาลใดที่ต้องการข้อมูลและความช่วยเหลือทางด้านผลงานออกแบบ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล sunaree.law@mail.kmutt.ac.th

มจธ. ส่งมอบจุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อ 6 เขต กทม. รับมือ COVID-19

            มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จับมือกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT) จัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตใน กทม. รับมือการระบาดโควิด-19

          อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ กล่าวว่า จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ ได้รับการพัฒนามาจากจุดตรวจโควิด-19 รุ่นแรก ที่ทางคณะผู้จัดทำได้ผสานความเชี่ยวชาญทั้งในด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ NT ผลิตขึ้นและนำส่งให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จ.จันทบุรี เมื่อปลายปี 2563 เพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยในครั้งนี้จุดตรวจจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียงจุดคัดกรองซึ่งใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพียงตู้เดียวเท่านั้น เนื่องด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตนี้มีพื้นที่จำกัด จึงต้องการจุดตรวจที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทางทีมผู้จัดทำจึงได้ออกแบบตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นห้องปฏิบัติงานหัตถการของบุคคลากรทางการแพทย์ให้มีสภาวะแรงดันอากาศที่เป็นบวก คือ มีแรงดันอากาศภายในสูงกว่าแรงดันอากาศภายนอก ป้องกันอากาศจากด้านนอกไหลเข้ามาด้านใน ห้องความดันบวกเป็นสภาวะที่ใช้ในห้องสะอาด (clean room) หรือห้องที่ควบคุมความสะอาด ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในห้อง มีการติดตั้งระบบกรองอากาศคุณภาพสูงที่มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อไวรัส เครื่องปรับอากาศสำหรับทำความเย็น และมีอินเทอร์คอมสำหรับสื่อสารกับผู้ที่รอรับการตรวจด้านนอก การผลิตจุดตรวจโควิด-19 ด้วยตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถประหยัดและลดงบประมาณต้นทุนการผลิตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

            จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ทางศูนย์บริการสาธารณสุขได้แจ้งว่า การสร้างจุดตรวจคัดกรองโรคในลักษณะนี้ ยังสามารถพัฒนาเพื่อใช้ต่อเนื่องในอนาคตสำหรับการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจประเภทอื่น เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคไอกรน เป็นต้น

            ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้ส่งมอบให้กับ ศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุ และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา และมีกำหนดการผลิตส่งมอบให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 4 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 เขตคันนายาว ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 เขตยานนาวา ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 เขตดินแดง และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 เขตหนองจอก    

            การดำเนินงานจัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะในครั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากทุกๆภาคส่วน และต้องขอขอบคุณที่ทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ร่วมบริจาคผ่านมายัง “โครงการบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19”  ที่บัญชีธนาคารของมหาวิทยาลัย  บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ. เลขที่ 237-2-00006-3 นอกจากนี้ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT)  ที่ได้สนับสนุนตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ทาง มจธ. โดยมีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ พร้อมทั้งพันธมิตรท่านอื่นๆของ มจธ. ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญ ในการประสานและดำเนินงานจนสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี

            หากหน่วยงานแพทย์ใดมีความประสงค์ที่จะรับการสนับสนุนจุดตรวจคัดกรอง สามารถติดต่อ​ได้ที่ศูนย์ประสานงานการรับบริจาคกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19

ฟีโบ้ ร่วมกับภาคเอกชน พัฒนา ‘MuM II’ หุ่นยนต์อัตโนมัติอเนกประสงค์ สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จํากัด ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติอเนกประสงค์ Multi-functional Mobility: MuM II ถูกออกแบบและพัฒนาให้รองรับการทํางานหลากหลายหน้าที่ เพื่อเพิ่มประโยชน์ ด้วยหุ่นยนต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนโมดูลด้านบนได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ได้แก่ โมดูลฆ่าเชื้อด้วย UV-C การส่งอาหาร และจ่ายยาอัตโนมัติ

MuM II ถูกพัฒนาขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

“MuM II” หุ่นยนต์อัตโนมัติอเนกประสงค์ พัฒนาโดยฝ่ายอุตสาหกรรม และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฟีโบ้ ประกอบด้วย นายณัฏฐนนท์ ตรังรัตนจิต นายวสุพล วรวราชัย นายภวินท์พล ทองแดง และนายอัยการ สุธาพจน์ นักศึกษาได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งนักศึกษาได้รับโอกาสในการฝึกประสบการณ์ และทักษะจนสามารถพัฒนา MuM II ได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ระบบการใช้งาน “MuM II

  1. โมดูลฆ่าเชื้อด้วย UV-C
    • Autonomous Mobile Robot รองรับการควบคุมทั้งแบบระบบส่วนกลางและแบบ Stand Alone มีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง แเละเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติ มีระบบยูวีสำหรับฆ่าเชื้อที่พื้นห้อง รับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม ระยะเวลาขับเคลื่อน 9-10 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (3.5 ชั่วโมง)
    • UV Disinfection Robot ระบบฆ่าเชื้อ 360 องศา ระยะเวลาทำงาน 4-5 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (7 ชั่วโมง)
  2. การส่งอาหาร และจ่ายยาอัตโนมัติ
    Food/Medicine Dispensing Robot มีจอสำหรับแสดงข้อมูลอาหารในตู้และชื่อผู้ป่วย ช่องจ่ายอาหารและยาอัตโนมัติแยกตามชื่อและเตียงผู้ป่วย ป้องกันความผิดพลาดในการจ่ายยา มีระบบส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการการจัดอาหารและยา มีแสงยูวีด้านในสำหรับฆ่าเชื้อถาดลิ้นชักอาหารเพื่อลดการปนเปื้อน ปรับความสูงและจำนวนช่องได้ตามขนาดของภาชนะ

รับชมคลิปหุ่นยนต์ MuM II ได้ที่ http://tiny.cc/3x7zqz

ฟีโบ้ มจธ. ส่งมอบ มดบริรักษ์ ชุดแรก ประจำการช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยมิตร ศรีธราคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ รับมอบ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานในการส่งมอบ พร้อมชมการสาธิตการทำงานของนวัตกรรมชุดระบบหุ่นยนต์ฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ และทีมพัฒนา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์” ให้กับหุ่นยนต์ FIBO AGAINST COVID-19: FAC ชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์ม การควบคุมที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยความตั้งใจที่ต้องการนำหุ่นยนต์ให้ทีมแพทย์ พยาบาล ใช้สนับสนุนการตรวจรักษาผู้ป่วยที่พักรักษาตัวด้วยโรค COVID-19 และพบปัญหาด้านการสื่อสารและการเข้าให้การดูแล

ศ. นพ.ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงว่า ทางคณะได้จัดตั้งศูนย์เพื่อทำการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยเฉพาะตึกสถาบันแห่งชาติรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สืบเนื่องมาจากอัตราการระบาดของโรคในระยะเริ่มแรกที่มักเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล และส่งผลให้ผู้ป่วยเรื้อรังโรคอื่น ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นการจัดพื้นที่จำเพาะจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้างได้ การได้รับการสนับสนุนระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ถือเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมหาศาล เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและลดการใช้ทรัพยากรในการป้องกันลงได้ อีกทั้งระบบหุ่นยนต์ฯได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนงานทางการแพทย์ในบริบทต่าง ๆ ตามการใช้งาน

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. เข้าใจถึงปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคCOVID-19 จึงพยายามที่จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการรับมือกับการระบาดของโรคนี้อย่างเต็มกำลัง นำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์นี้ขึ้นมา และขอขอบคุณทางโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ ที่ได้ร่วมมือกันทำงาน และในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะนำพิมพ์เขียว หรือ Engineering Drawing ให้กับภาคเอกชนดำเนินการต่อเพื่อเป็นการกระจายความช่วยเหลือให้ได้มากยิ่งขึ้น

รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ ได้อธิบายถึงภาพรวมระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ ว่าหุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

(1) CARVER เป็น Automated Guided Vehicle (AGV) ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator
(2) SOFA หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถ video call สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบ real time และ
(3) Service Robot หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ และผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้ผ่าน video call

โดยหุ่นยนต์ทั้ง 3 รูปแบบ จะจัดเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยฟีโบ้
สำหรับโรงพยาบาลที่จะทำการติดตั้งชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ในลำดับต่อไป ได้แก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซี อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง (ในเดือนมิถุนายน) พร้อมกันนี้ ฟีโบ้จะเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing ให้กับบริษัทเอกชน ในสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) เพื่อผลิตตามความต้องการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป

ในอนาคตฟีโบ้วางแผนนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมความสามารถของชุดหุ่นยนต์โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ทำการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนาระบบ Teleconference ระบบบันทึกภาพ ควบคุมบริหารจัดการหุ่นยนต์จากส่วนกลางบนคลาวน์ นอกจากนี้มีแผนพัฒนาระบบ IoT กับอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อใช้ในการบันทึกสัญญาณชีพ และจัดทำเป็นระบบวิเคราะห์ด้วย AI ซึ่งจะต่อโดยตรงกับ Genomics Platform ในพื้นที่อีอีซี

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยระบบหุ่นยนต์มดบริรักษ์ที่ได้รับมอบจาก มจธ. ทางโรงพยาบาลจะทำการนำมาทดลองใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งตัวบุคลากรและผู้ป่วย

นักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนย้ายได้ส่งมอบกับรพ.พระมงกุฎเกล้า เคลื่อนย้ายง่าย มีประสิทธิภาพสูง

ทีมนักวิจัยไทยประดิษฐ์ชุดอุปกรณ์ความดันลบ หรือ Negative Pressure Unit ซึ่งเป็นเครื่องแบบเคลื่อนย้ายได้สามารถติดตั้งได้กับทุกเตียงในโรงพยาบาลและรถพยาบาล ลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำหัตถการ ทางกลุ่มได้ส่งมอบแล้วให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 2 เครื่อง ผลงานประดิษฐ์ฝีมือของนักวิจัยไทยที่รวมกลุ่มกันของกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ดร. ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ทีมมดอาสา มจธ. เปิดเผยว่า อุปกรณ์นี้เริ่มต้นจากคุณไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และคุณธเนศ นะธิศรี และการรวมกลุ่มกันของนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันทำผลงานต้นแบบ จากนั้นจึงได้มาเริ่มทำเครื่องความดันลบที่มีโรงพยาบาลต่างๆ ติดต่อขอการสนับสนุนเข้ามาจำนวนมาก และขณะนี้ยังขาดแคลน เครื่องความดันลบนี้มีการทำงานของเครื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ

ส่วนที่ 1 Operating Chamber Unit โครงสร้างกล่องทำจากสเตนเลส (Stainless Steel) หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม กล่องโดยรอบทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนต สามารถมองเห็นผู้ป่วยด้านในได้ ทำความสะอาดง่ายทั้งจากภายในและภายนอก น้ำหนักน้อยลงยกด้วยคน 2 คนก็สามารถเคลื่อนย้ายได้  ด้านข้าง 2 ด้าน และด้านบนฝั่งศรีษะผู้ป่วย 2 ช่อง ออกแบบให้มีช่องสำหรับยื่นมือเข้าไปด้านในเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ทั้งสองด้าน ทุกช่องมีแผ่นปิด-เปิด เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานและการออกแบบที่มีความลาดเอียง 45 องศา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นจากมุมสูงด้วย และกล่อง chamber ถูกออกแบบให้มีพื้นที่เพิ่มแนวตั้งที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยในเตียงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและไม่อึดอัดมาก หากเทียบกับแบบครึ่งวงกลมและสี่เหลี่ยมที่มีทั่วไปในต่างประเทศ ด้านบนมีช่องสำหรับติดตั้งระบบ negative pressure ventilation unit ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบได้ง่าย และล็อคเข้ากับโครงอะลูมิเนียม

ส่วนที่ 2  Negative pressure ventilation unit with HEPA filtration and UVC germicidal treatment ที่มีหลักการทำงานเหมือนคลีนรูมขนาดเล็ก คือการใช้พัดลมความเร็วสูงดูดอากาศภายใน chamber ออก ผ่านการกรองด้วย HEPA filter เพื่อกรองแบคทีเรีย จากนั้นอากาศจะผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อไวรัสด้วยระบบรังสีจากแสง UVC ก่อนจะปล่อยออกไปภายนอก และจะบังคับให้อากาศใหม่ที่สะอาดจากด้านนอก ผ่านเข้ามาโดยช่องว่างเล็กๆ ในความเร็วสูง เพื่อหมุนเวียนภายใน chamber ซึ่งจะทำให้คุณภาพอากาศในห้องที่ผู้ป่วยพักอยู่ปลอดภัยขึ้น และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยร่วมห้อง รวมถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

เครื่องความดันลบนี้ต้นทุนในการผลิตต่อเครื่อง 60,000 บาท หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาหลักแสนหรือหลักล้านบาท ปัจจุบันส่งมอบให้กับ รพ.พระมงกุฎเกล้า แล้วจำนวน 2 เครื่อง และอยู่ระหว่างส่งมอบให้กับ รพ.ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 เครื่อง โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 เครื่อง โครงสร้าง แผ่นหลักมีแค่ 3 ชิ้น ทำให้การผลิตและประกอบเร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากผู้มีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคเงินสามารถสมทบทุนได้ทาง บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี ERIG กองทุนวิจัยพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ โดย นายไกรพิชิต เมืองวงษ์ เลขที่บัญชี 678-1-95529-2 หรือจะสนับสนุนอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเช่น แผ่นโพลิคาร์บอเนต หรือขอความรู้กลุ่มจิตอาสายินดีเผยแพร่องค์ความรู้สามารถติดต่อ ดร. ปริเวท วรรณโกวิท ได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 089-866-5958  เฟซบุ๊ก Pariwate Varnakovida หรือ อีเมล pariwate@gmail.com

มจธ. เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีแผนติดตั้งที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นแห่งแรก

ทีมอาจารย์และนักวิจัย มจธ. ได้ทำการออกแบบและทดสอบห้องฆ่าเชื้อที่ใช้ระบบพ่นไอระเหยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (HPV) ตามมาตรฐานที่รับรองโดย US.FDA พร้อมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้จัดการโครงการการพัฒนากระบวนการฆ่าเชื้อด้วยละอองฝอยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เปิดเผยว่า การรับมือกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ อันได้แก่ หน้ากากกรองอนุภาค N95 และชุดคลุมปฏิบัติการชนิด Coverall มีความสำคัญมากและจำเป็นต้องมีใช้อย่างต่อเนื่อง แต่จากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าวไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลนและมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน

ทาง มจธ. ทราบถึงปัญหานี้ จึงได้เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรกให้นำระบบที่พัฒนาไปติดตั้งใช้งานที่โรงพยาบาล จากปัญหาในสถานการณ์ที่จำเป็นและเร่งด่วน มจธ. ตั้งเป้าหมายในการทำงานเร็วที่สุด คือ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จะต้องสามารถติดตั้งและทดสอบระบบจริงได้ที่โรงพยาบาล จึงทำการระดมทีมอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาทิเช่น วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมชีวภาพ จุลชีววิทยา และเทคโนโลยีวัสดุ ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายนี้

โดยทีมงานเลือกใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยระบบพ่นไอระเหยของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide Vapor: HPV) เนื่องจากฆ่าเชื้อโรคได้ดีและเหมาะกับการฆ่าเชื้อจำนวนมาก ด้วยต้นทุนต่อการดำเนินงานต่อครั้งที่ต่ำ (ค่าสารเคมีต่ำกว่า 2 บาท/ชิ้น และสามารถฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อครั้ง) ในขณะที่ไม่ลดประสิทธิภาพการกรองของหน้ากาก(แตกต่างจากการใช้รังสี UVC) ทั้งยังเป็นระบบที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration : FDA) ได้อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว โดยมีข้อมูลว่าหน้ากากที่ฆ่าเชื้อโดย HPV สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง

ห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้เป็นห้องระบบความดันเป็นลบ (negative pressure) ขนาด 6×2.5×3.5 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ภายนอก พื้นที่ในห้องประกอบด้วย 1.พื้นที่ฆ่าเชื้อขนาด 3×3 เมตร ซึ่งบรรจุเครื่องผลิตละออง HPV 2.พื้นที่สำหรับเปลี่ยนชุดของผู้ปฏิบัติงาน 3.พื้นที่ตั้งเครื่องควบคุมและจุดรับ-ส่งอุปกรณ์ที่นำมาฆ่าเชื้อ โดยจะอาศัยการปรับปรุงห้องภายในอาคารท่านผู้หญิง ประภาศรี กำลังเอก”(ตึกอุบัติเหตุ) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งจะสามารถรองรับการฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 สูงสุดต่อวันได้ถึง 2,000 ชิ้น หรือชุดคลุมฯ 150 ตัวต่อวัน ดร.ขจรวุฒิ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีการรับรองและใช้เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความชื้นในอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ได้ ทีมงานจึงได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ณ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ของ มจธ. ในห้องทดสอบที่มีการความคุมความชื้น อุณหภูมิ และมีขนาดเดียวกับห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากความร่วมมือของ บริษัท ซิม จำกัด เพื่อศึกษาปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ระยะเวลาการใช้งานและความเข้มข้นของ HPV ที่เหมาะสมที่สุดในการฆ่าเชื้อ

เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากรการแพทย์ ทีมงานมีแผนที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เข้ารับการทดสอบประสิทธิภาพ ว่าอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อปลอดทั้งไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงมีการตรวจสอบโครงสร้างของเส้นใยของหน้ากาก N95 และประสิทธิภาพการกรองซ้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลังการฆ่าเชื้อแล้ว อุปกรณ์ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย นอกไปจากนี้ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราของ มจธ. ยังได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเส้นยางสำหรับคล้องศีรษะและกาวพิเศษสำหรับยึดติดหน้ากาก N95 เพื่อเตรียมไว้สำรองทดแทนหากหน้ากาก N95 บางรุ่นซึ่งอาจมีการชำรุดหรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปหลังการฆ่าเชื้ออีกด้วย

ดร.ขจรวุฒิ เน้นย้ำว่าในส่วนของการดำเนินงานห้องฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นสถานที่จริงนั้นจะต้องมีระบบการทำงานรัดกุม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานได้เตรียมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน (Standard Operating Principles: SOP) ของการบริหารจัดการอุปกรณ์แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้กับโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน ครอบคลุมตั้งแต่ เริ่มการขนส่งอุปกรณ์จากผู้ใช้มาทำการฆ่าเชื้อ การฆ่าเชื้อในห้องฆ่าเชื้อ และการส่งกลับ โดยมีขั้นตอนระบุความเป็นเจ้าของเพื่อการส่งกลับที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะอุปกรณ์ของแต่ละบุคคลนั้นมีขนาดเฉพาะตัว รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพ การระบุจำนวนครั้งของการฆ่าเชื้อซ้ำ และการส่งคืนหลังการฆ่าเชื้อที่มั่นใจได้ว่าอยู่ในสภาวะปลอดเชื้อแก่ผู้ใช้เดิมทุกครั้ง เป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ มจธ. พร้อมส่งมอบระบบฆ่าเชื้อและขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน รวมถึงให้การอบรมบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริงภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นทีมงานทดสอบประสิทธิภาพของห้องฆ่าเชื้อกำลังตัวต้นแบบทำการทดสอบทุกวันที่ตึกสรบ. เขตพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน เพื่อให้สามารถใช้ระบบได้ทันกำหนด

โดยทีมคณะทำงานหลักประกอบด้วย ดร อรรณพ นพรัตน์ ผอ.สรบ ผศ ดร บุณยภัต สุภานิช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คุณทนงค์ ฉายาวัฒนะ สรบ. คุณสุดารัตน์ ดุลสวัสดิ สรบ. นายอภิสิทธิ์ ไทยประยูร นศ.วิศวกรรมชีวภาพ และ นายอรรถพล แกมทอง นศ.วิศวกรรมชีวภาพ

หากหน่วยงานหรือโรงพยาบาลใด มีความสนใจในระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่ มจธ. พัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ ผู้จัดการโครงการฯ โทร. 086972253

ส่งมอบเพิ่มชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนที่ได้ 2 เครื่องให้กับโรงพยาบาลบางละมุง สนับสนุนโดยบริษัทเมืองโบราณ

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ผู้แทนบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) กลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) และทีมมดอาสา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่งมอบ Mobile Negative Pressure Unit หรือชุดอุปกรณ์ความดันลบแบบเคลื่อนที่ได้ จำนวน 2 เครื่อง ให้กับโรงพยาบาลบางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

วิศวกรรมเครื่องกล มจธ. ผลิตบอร์ดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมชุดบำบัดอากาศลดการแพร่กระจายเชื้อโรคมอบโรงพยาบาลราชวิถี

บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจหรือบุคคลที่คาดว่ามีการติดเชื้อ อุปกรณ์ดังกล่าวต้องสามารถนำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ทั้งระหว่างการเคลื่อนย้ายจากที่พักและระหว่างรอรับการรักษา

                ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ รศ. ดร.วันชัย อัศวภูษิตกุล นายธวัชชัย เขียวคำรพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ผศ. สิทธิชัย วงศ์ธนสุภรณ์ จากบริษัท เอ ซี เทค จำกัด ได้ร่วมกันออกแบบและผลิต ”บอร์ดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีชุดบำบัดอากาศสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ” เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่อากาศ ชุดอุปกรณ์สามารถถอดประกอบได้ง่าย ใช้ได้ทั้งในรถพยาบาล รถฉุกเฉิน และเตียงโรงพยาบาล สะดวกในการเคลื่อนย้ายและทำความสะอาด

               ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ กล่าวว่าอุปกรณ์ประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ คือส่วนที่จะรองรับลมหายใจและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายออกสู่ภายนอก  ส่วนที่จะนำพาอากาศที่ติดเชื้อนี้เข้าสู่ชุดบำบัดอากาศและส่วนของการบำบัดอากาศ หลักการทำงาน คือ เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรับการรักษา เราก็จะให้ผู้ป่วยขึ้นไปนอนบนบอร์ดนี้ หลังจากนั้นก็ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำการครอบส่วนบนของผู้ป่วยด้วยถุงพลาสติก ต่อท่อลมระหว่างส่วนหัวของบอร์ดเข้ากับเครื่องบำบัดอากาศ และจึงเปิดระบบการบำบัดอากาศ อากาศที่ออกจากลมหายใจของผู้ป่วยซึ่งอาจมีสารคัดหลั่งอยู่ด้วยจะถูกดูดเข้าเครื่องบำบัด เพื่อกักและทำลายเชื้อโรคไม่ปล่อยสู่อากาศภายนอก ทำให้อากาศที่ออกมาปลอดจากเชื้อโรค ภายในถุงที่ครอบส่วนบนอยู่ จะมีความดันลบ (Negative pressure) ทำให้ลมหายใจที่ติดเชื้อไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้ แต่จะถูกดูดเข้าไปบำบัดที่เครื่องบำบัด ในตัวเครื่องบำบัดจะประกอบด้วย พัดลม, หลอด UV, Pre-filter และ Hepa filter การเลือกพัดลมและ Filter เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยลมต้องกระจายสม่ำเสมอผ่านไส้กรอง ถ้าลมแรงเกินไปเชื้อโรคจะหลุดรอดไส้กรองไปได้ แต่ถ้าน้อยเกินไปจะไม่สามารถกั้นเชื้อโรคจากถุงที่ครอบส่วนบนได้ และก็จะทำให้ใช้งานไส้กรองได้ไม่เต็มความสามารถ และเนื่องจาก Hepa filter มีราคาแพงจึงต้องเลือกและกำหนดขนาดให้เหมาะสม การใช้ Pre filter จะช่วยยืดอายุการใช้งานของ Hepa filter ได้

บอร์ดนี้สามารถนำไปใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมกับบำบัดอากาศไปด้วย ใช้งานง่าย ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติไม่รู้สึกอึดอัด ถุงที่คลุมหลังจากใช้แล้วสามารถถอดเปลี่ยนได้เลย เมื่อต้องการใช้บอร์ดนี้กับผู้ป่วยรายใหม่ ก็สามารถใช้ได้ทันทีเพียงเปลี่ยนถุงใหม่

โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ผศ. ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ มจธ. ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ รศ. ดร.วันชัย อัศวภูษิตกุล นายธวัชชัย เขียวคำรพ และ ผศ. สิทธิชัย วงศ์ธนสุภรณ์ ได้ส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

ความสำเร็จครั้งใหญ่ มจธ.- ซัยโจ เด็นกิ.- รพ.พระมงกุฎเกล้า-ม.มหิดล จับมือพัฒนาต้นแบบห้อง True Negative Pressure สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ในรพ.พระมงกุฎเกล้า

20 เมษายน 2563 – ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การส่งมอบระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ และระบบกรองอากาศสำหรับห้อง True Negative Pressure ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และภาคจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนำห้องผู้ป่วยเก่า อาคารตึกอุบัติเหตุ (อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี) ซึ่งมีอายุกว่า 37 ปี ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาปรับปรุง พัฒนาระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ และระบบกรองอากาศเพื่อจัดเป็นห้องผู้ป่วย COVID-19 ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ทางวิศวกรรมของคนไทยที่สามารถพัฒนาสินค้าที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ COVID-19 ได้เอง ซึ่งปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และได้ค่าไม่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลห้อง Negative Pressure ที่ระบุไว้โดยองค์การอนามัยโลก -WHO และหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา-CDC และเกณฑ์ตามคู่มือการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารของสถาบันบำราศนราดูร โดยแบ่งเป็น Cohort Ward 4 ห้อง ห้องละ 9 เตียง และห้อง ICU 5 ห้องรวม 5 เตียง รวมสามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 ได้ทั้งหมด 41 เตียง พื้นที่รวมกว่า 580 ตารางเมตร

ซัยโจ เด็นกิ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและการผลิตภายในประเทศ ซึ่งสามารถผลิตได้จำนวนมาก (Mass Production) โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มาก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทดสอบประสิทธิภาพการกรองอากาศแผ่น Ultrafine Filter ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ในขณะที่เชื้อไวรัสโคโรน่ามีขนาดเฉลี่ย 0.125 ไมครอน อีกทั้งมจธ. ได้ใช้การจำลองทางคณิตศาสตร์ (CFD) เพื่อช่วยในการออกแบบ
สรุปลักษณะเฉพาะของระบบมี ดังต่อไปนี้

  1. Supply Unit ใช้ Fresh Air 100% ที่มีทั้งความร้อน ความชื้น ฝุ่น และเชื้อโรคมาทำให้สะอาด ก่อนนำอากาศเข้ามาภายในห้อง
  2. ระบบ Inverter เมื่อเอา Fresh Air 100% มาทำความเย็น และควบคุมความชื้นให้ต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ตลอดเวลา ปกติต้องกินไฟมากกว่าเดิมถึง 2-3 เท่าของเครื่องปรับอากาศปกติ ทาง ซัยโจ เด็นกิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและพัฒนาระบบ Inverter ด้วยตัวเอง สามารถลดค่าไฟลงเหลือเพียง 30-35% เท่านั้น
  3. เทคนิค Clean to Dirty Air Flow คือการทำให้อากาศสะอาดไหลสู่สกปรก โดยอากาศภายนอก (Fresh Air) จะถูกกรองด้วยฟิลเตอร์ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ลดอุณหภูมิ ปรับความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งถือเป็นอากาศที่สะอาดจะเข้ามาในห้อง ไหลผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ไปสู่ผู้ป่วย โดยอากาศจากบริเวณศีรษะผู้ป่วยซึ่งเป็นจุดที่สกปรกที่สุด จะถูกดูดออกไปกรอง และนำไปทิ้ง จึงปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากผู้ป่วยไปสู่บุคลากรทางการแพทย์
  4. การทำห้องให้เป็น Negative Pressure โดยที่ห้องเดิมไม่ได้ถูกปรับปรุงตามมาตรฐาน Negative Pressure ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ‘ซัยโจ เด็นกิ’ ใช้ความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมร่วมกับ มจธ. ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น อัตราการหมุนเวียนอากาศ (Air Change) และแรงดันห้อง (Room Pressure)
  5. เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการสภาวะอากาศภายในห้องผู้ป่วย รวมถึงการดูแลรักษาระบบปรับอากาศดังกล่าวผ่านหน้าจอ Centralized Control ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณฝุ่น PM2.5 แรงดันห้อง (Room Pressure) อัตราการหมุนเวียนอากาศขาเข้า (Air Change – Fresh Air) อัตราการหมุนเวียนอากาศขาออก (Air Change – Exhaust) และประสิทธิภาพของระบบฟอกอากาศ (% Filter Efficiency) เพื่อบริหารการดูแลรักษาระบบฟอกอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

ด้วยเวลาที่จำกัดเวลาเพียง 10 วัน ทาง ‘ซัยโจ เด็นกิ ได้นำข้อเสนอของมจธ.ใช้เทคนิคการจำลองการไหลของอากาศภายในห้อง ด้วยวิธี Computational Fluid Dynamics (CFD) Simulation พัฒนาสินค้าในเวลาที่จำกัด รวมถึงได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งภายในห้องผู้ป่วย และภายนอกห้องก่อนนำอากาศเสียไปทิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล