ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา หุ่นยนต์ส่งอาหารและยา “มดพิทักษ์“

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย “กลุ่มนักศึกษาเก่าบางมด” ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา หุ่นยนต์ส่งอาหารและยา “มดพิทักษ์” จำนวน 10 ตัว เพื่อมอบให้โรงพยาบาล 11 แห่ง ในจังหวัดราชบุรี

โดยสามารถบริจาคผ่านบัญชี “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ. เลขที่บัญชี 237-2-00006-3 โปรดวงเล็บใน slip ว่า เพื่อ “มดพิทักษ์”

***เงินบริจาคสนับสนุน สร้างหุ่นยนต์ “มดพิทักษ์” สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า***

ส่งหลักฐานการโอนเงินพร้อม ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่
ส่งถึง คุณอริยา พรหมสุภา
ID line: ka-kib-ja

ผนึกกำลัง ประสานความรู้ และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

คณะสถาปัตย์ฯ มจธ. ส่งมอบ “สถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร” รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา และรพ.ศรีสังวาลย์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและออกแบบ “จุดตรวจนอกอาคารแบบครบวงจร” ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดคัดกรองโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ภายใต้แรงดันอากาศบวก แบบติดตั้งนอกอาคาร เพื่อลดการแพร่กระจาย และป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ผลงานการวิจัยและออกแบบโดยทีมอาจารย์และนักวิจัยจาก Humanitarian Design Lab กลุ่มปฏิบัติการวิจัยเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดยอาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ และ Dr. Martin Schoch ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)     

            สำหรับจุดตรวจนอกอาคารแบบครบวงจร ได้ถูกพัฒนาให้เป็นสถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร โดยแบ่งจุดให้บริการออกเป็น 6 จุด ประกอบด้วย จุดรับลงทะเบียน จุดให้คำปรึกษาโดยทีมแพทย์ การเงิน จุดรับยาและอุปกรณ์ จุดตรวจหัตถการ และจุดลงทะเบียนติดตามผล จึงช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยในขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรับมือกับการคัดกรองผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยผลงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมในการแก้ปัญหาและบรรเทาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19

              อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ หัวหน้าโครงการและนักวิจัย Humanitarian Design Lab กล่าวว่า ปัจจุบันได้ส่งมอบและติดตั้งสถานีคัดกรองโรคติดต่อทางเดินหายใจนอกอาคาร สำหรับโรงพยาบาลในชุมชน ไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้นำไปใช้ประโยชน์โดยจัดตั้งเป็นคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARI CLINIC) โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โดยพบว่า ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรมีความมั่นใจในความปลอดภัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน นอกจากการคัดกรองผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังสามารถใช้เป็นจุดตรวจคัดกรองวัณโรค โรคหวัด และโรคทางระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์งานออกแบบ เลขที่คำขอจดเเจ้ง 386675 สำหรับโรงพยาบาลใดที่ต้องการข้อมูลและความช่วยเหลือทางด้านผลงานออกแบบ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล sunaree.law@mail.kmutt.ac.th

มจธ. ส่งมอบจุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อ 6 เขต กทม. รับมือ COVID-19

            มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จับมือกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT) จัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตใน กทม. รับมือการระบาดโควิด-19

          อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ กล่าวว่า จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ ได้รับการพัฒนามาจากจุดตรวจโควิด-19 รุ่นแรก ที่ทางคณะผู้จัดทำได้ผสานความเชี่ยวชาญทั้งในด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ NT ผลิตขึ้นและนำส่งให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จ.จันทบุรี เมื่อปลายปี 2563 เพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยในครั้งนี้จุดตรวจจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียงจุดคัดกรองซึ่งใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพียงตู้เดียวเท่านั้น เนื่องด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตนี้มีพื้นที่จำกัด จึงต้องการจุดตรวจที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทางทีมผู้จัดทำจึงได้ออกแบบตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นห้องปฏิบัติงานหัตถการของบุคคลากรทางการแพทย์ให้มีสภาวะแรงดันอากาศที่เป็นบวก คือ มีแรงดันอากาศภายในสูงกว่าแรงดันอากาศภายนอก ป้องกันอากาศจากด้านนอกไหลเข้ามาด้านใน ห้องความดันบวกเป็นสภาวะที่ใช้ในห้องสะอาด (clean room) หรือห้องที่ควบคุมความสะอาด ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในห้อง มีการติดตั้งระบบกรองอากาศคุณภาพสูงที่มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อไวรัส เครื่องปรับอากาศสำหรับทำความเย็น และมีอินเทอร์คอมสำหรับสื่อสารกับผู้ที่รอรับการตรวจด้านนอก การผลิตจุดตรวจโควิด-19 ด้วยตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถประหยัดและลดงบประมาณต้นทุนการผลิตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

            จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ทางศูนย์บริการสาธารณสุขได้แจ้งว่า การสร้างจุดตรวจคัดกรองโรคในลักษณะนี้ ยังสามารถพัฒนาเพื่อใช้ต่อเนื่องในอนาคตสำหรับการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจประเภทอื่น เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคไอกรน เป็นต้น

            ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้ส่งมอบให้กับ ศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุ และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา และมีกำหนดการผลิตส่งมอบให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 4 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 เขตคันนายาว ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 เขตยานนาวา ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 เขตดินแดง และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 เขตหนองจอก    

            การดำเนินงานจัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะในครั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากทุกๆภาคส่วน และต้องขอขอบคุณที่ทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ร่วมบริจาคผ่านมายัง “โครงการบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19”  ที่บัญชีธนาคารของมหาวิทยาลัย  บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ. เลขที่ 237-2-00006-3 นอกจากนี้ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT)  ที่ได้สนับสนุนตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ทาง มจธ. โดยมีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ พร้อมทั้งพันธมิตรท่านอื่นๆของ มจธ. ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญ ในการประสานและดำเนินงานจนสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี

            หากหน่วยงานแพทย์ใดมีความประสงค์ที่จะรับการสนับสนุนจุดตรวจคัดกรอง สามารถติดต่อ​ได้ที่ศูนย์ประสานงานการรับบริจาคกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19

มจธ. เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีแผนติดตั้งที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นแห่งแรก

ทีมอาจารย์และนักวิจัย มจธ. ได้ทำการออกแบบและทดสอบห้องฆ่าเชื้อที่ใช้ระบบพ่นไอระเหยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (HPV) ตามมาตรฐานที่รับรองโดย US.FDA พร้อมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้จัดการโครงการการพัฒนากระบวนการฆ่าเชื้อด้วยละอองฝอยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เปิดเผยว่า การรับมือกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ อันได้แก่ หน้ากากกรองอนุภาค N95 และชุดคลุมปฏิบัติการชนิด Coverall มีความสำคัญมากและจำเป็นต้องมีใช้อย่างต่อเนื่อง แต่จากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าวไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้อุปกรณ์เหล่านี้ขาดแคลนและมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน

ทาง มจธ. ทราบถึงปัญหานี้ จึงได้เร่งพัฒนาระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรกให้นำระบบที่พัฒนาไปติดตั้งใช้งานที่โรงพยาบาล จากปัญหาในสถานการณ์ที่จำเป็นและเร่งด่วน มจธ. ตั้งเป้าหมายในการทำงานเร็วที่สุด คือ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จะต้องสามารถติดตั้งและทดสอบระบบจริงได้ที่โรงพยาบาล จึงทำการระดมทีมอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาทิเช่น วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมชีวภาพ จุลชีววิทยา และเทคโนโลยีวัสดุ ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายนี้

โดยทีมงานเลือกใช้เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยระบบพ่นไอระเหยของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide Vapor: HPV) เนื่องจากฆ่าเชื้อโรคได้ดีและเหมาะกับการฆ่าเชื้อจำนวนมาก ด้วยต้นทุนต่อการดำเนินงานต่อครั้งที่ต่ำ (ค่าสารเคมีต่ำกว่า 2 บาท/ชิ้น และสามารถฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อครั้ง) ในขณะที่ไม่ลดประสิทธิภาพการกรองของหน้ากาก(แตกต่างจากการใช้รังสี UVC) ทั้งยังเป็นระบบที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration : FDA) ได้อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว โดยมีข้อมูลว่าหน้ากากที่ฆ่าเชื้อโดย HPV สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง

ห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้เป็นห้องระบบความดันเป็นลบ (negative pressure) ขนาด 6×2.5×3.5 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ภายนอก พื้นที่ในห้องประกอบด้วย 1.พื้นที่ฆ่าเชื้อขนาด 3×3 เมตร ซึ่งบรรจุเครื่องผลิตละออง HPV 2.พื้นที่สำหรับเปลี่ยนชุดของผู้ปฏิบัติงาน 3.พื้นที่ตั้งเครื่องควบคุมและจุดรับ-ส่งอุปกรณ์ที่นำมาฆ่าเชื้อ โดยจะอาศัยการปรับปรุงห้องภายในอาคารท่านผู้หญิง ประภาศรี กำลังเอก”(ตึกอุบัติเหตุ) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งจะสามารถรองรับการฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 สูงสุดต่อวันได้ถึง 2,000 ชิ้น หรือชุดคลุมฯ 150 ตัวต่อวัน ดร.ขจรวุฒิ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีการรับรองและใช้เทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความชื้นในอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ได้ ทีมงานจึงได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของระบบ HPV ณ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ของ มจธ. ในห้องทดสอบที่มีการความคุมความชื้น อุณหภูมิ และมีขนาดเดียวกับห้องฆ่าเชื้อที่ออกแบบไว้สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากความร่วมมือของ บริษัท ซิม จำกัด เพื่อศึกษาปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ระยะเวลาการใช้งานและความเข้มข้นของ HPV ที่เหมาะสมที่สุดในการฆ่าเชื้อ

เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากรการแพทย์ ทีมงานมีแผนที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เข้ารับการทดสอบประสิทธิภาพ ว่าอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อปลอดทั้งไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงมีการตรวจสอบโครงสร้างของเส้นใยของหน้ากาก N95 และประสิทธิภาพการกรองซ้ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลังการฆ่าเชื้อแล้ว อุปกรณ์ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย นอกไปจากนี้ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราของ มจธ. ยังได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเส้นยางสำหรับคล้องศีรษะและกาวพิเศษสำหรับยึดติดหน้ากาก N95 เพื่อเตรียมไว้สำรองทดแทนหากหน้ากาก N95 บางรุ่นซึ่งอาจมีการชำรุดหรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปหลังการฆ่าเชื้ออีกด้วย

ดร.ขจรวุฒิ เน้นย้ำว่าในส่วนของการดำเนินงานห้องฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นสถานที่จริงนั้นจะต้องมีระบบการทำงานรัดกุม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานได้เตรียมจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน (Standard Operating Principles: SOP) ของการบริหารจัดการอุปกรณ์แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้กับโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน ครอบคลุมตั้งแต่ เริ่มการขนส่งอุปกรณ์จากผู้ใช้มาทำการฆ่าเชื้อ การฆ่าเชื้อในห้องฆ่าเชื้อ และการส่งกลับ โดยมีขั้นตอนระบุความเป็นเจ้าของเพื่อการส่งกลับที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะอุปกรณ์ของแต่ละบุคคลนั้นมีขนาดเฉพาะตัว รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพ การระบุจำนวนครั้งของการฆ่าเชื้อซ้ำ และการส่งคืนหลังการฆ่าเชื้อที่มั่นใจได้ว่าอยู่ในสภาวะปลอดเชื้อแก่ผู้ใช้เดิมทุกครั้ง เป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ มจธ. พร้อมส่งมอบระบบฆ่าเชื้อและขั้นตอนการปฏิบัติการมาตรฐาน รวมถึงให้การอบรมบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริงภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นทีมงานทดสอบประสิทธิภาพของห้องฆ่าเชื้อกำลังตัวต้นแบบทำการทดสอบทุกวันที่ตึกสรบ. เขตพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน เพื่อให้สามารถใช้ระบบได้ทันกำหนด

โดยทีมคณะทำงานหลักประกอบด้วย ดร อรรณพ นพรัตน์ ผอ.สรบ ผศ ดร บุณยภัต สุภานิช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คุณทนงค์ ฉายาวัฒนะ สรบ. คุณสุดารัตน์ ดุลสวัสดิ สรบ. นายอภิสิทธิ์ ไทยประยูร นศ.วิศวกรรมชีวภาพ และ นายอรรถพล แกมทอง นศ.วิศวกรรมชีวภาพ

หากหน่วยงานหรือโรงพยาบาลใด มีความสนใจในระบบฆ่าเชื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่ มจธ. พัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ ผู้จัดการโครงการฯ โทร. 086972253

อาจารย์ มจธ. ผลิตอุปกรณ์และปรับปรุงกระบวนการ เพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยช่วยโรงงาน ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 30%

บริษัทผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยมีเพียง 11 บริษัท และมีเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทรายใหญ่ที่มีกำลังผลิตสูง โดย รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ และอาจารย์นพณรงค์ ศิริเสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คุณไพศาล ตั้งชัยสิน นักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และ นายทศพร บุญแท้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้ทำงานร่วมกับบริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด หวังช่วยให้โรงงานขนาดใหญ่มีกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว ใช้เงินลงทุนไม่มาก ร่วมกับใช้เครื่องเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual ที่ให้การผลิตต่ำกว่าเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบอัตโนมัติ

รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมการเชื่อม กล่าวว่า บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ที่ทางมจธ.ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยคิดวางแผนและผลิตอุปกรณ์เพื่อเพิ่มกำลังผลิตนั้น เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตที่มีสัดส่วนประมาณ1 ใน 3 ของประเทศ ในช่วงนี้บริษัทเปิดงานการผลิตตลอด โดยเครื่องที่บริษัทใช้งานอยู่นั้นเป็นเครื่องแบบอัตโนมัติ 2 เครื่อง มีกำลังการผลิต โดยประมาณ 64,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และเครื่องแบบกึ่งอัตโนมัติมีกำลังการผลิต โดยประมาณ 16,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และมีการใช้เครื่องเชื่อมเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual จำนวน 60 เครื่อง โดยมีกำลังการผลิต 210,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน (เฉลี่ย 3,500 ชิ้น ต่อเครื่องต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน) ซึ่งทางบริษัทได้มีเพิ่มการทำงานเป็น 2 กะ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตในส่วนของเครื่องผลิตแบบอัตโนมัติสามารถทำได้และทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดเวลาการติดตั้งและการซ่อมบำรุง แต่เนื่องจากขั้นตอนการปรับปรุงต้องมีการปรับตั้งซึ่งอาจจะกระทบกำลังการผลิตในปัจจุบัน และเครื่องจักรยังจำเป็นต้องเร่งการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นทางมจธ. จึงมุ่งไปพัฒนาในส่วนของเครื่องเชื่อมเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual ที่ในบริษัทมีมากถึง 60 เครื่อง และมีกำลังการผลิตรวมถึง 210,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน โดยเครื่องนี้ต้องใช้พนักงานป้อนตัวหูเกี่ยวยางยืด (ear loop) ซึ่งกระบวนการที่ช้าและอีกทั้งต้องใช้ความชำนาญของพนักงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขั้นตอนการเชื่อมหูเกี่ยวกับแผ่นหน้ากากอนามัยด้วยเสียง (ultrasonic) พนักงานที่มีชำนาญสามารถผลิตได้ประมาณ 4,800 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน แต่พนักงานที่ฝึกใหม่และมีจำนวนคนมากกว่า สามารถผลิตได้ประมาณ 1,200-2,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน รวมทั้งคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ

โดยในโครงการนี้ทาง มจธ. ได้เสนอการดำเนินการแบบเร่งด่วน คือ 1.ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานและแก้ไขจุดที่เป็นคอขวดของงานเท่าที่จะทำได้ และ 2. ทำการออกแบบอุปกรณ์เสริมทำให้การเชื่อมหูเกี่ยว เร็ว และแม่นยำ โดยพนักงานไม่ต้องคอยเล็งว่าตรงหรือไม่ และออกแบบหัวเชื่อมอัลตราโซนิกใหม่จากเดิมต้องเชื่อม 4 จุด พลิกผ้า 4 ครั้ง เครื่องนี้จะเชื่อมได้ครั้งละ 2 จุด พลิกผ้า 1 ครั้ง สามารถผลิตได้ประมาณ 5,000-6,000 ชิ้นต่อเครื่อง ต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน ซึ่งถือว่าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยได้ถึง 50% หากพัฒนาเครื่องมือจนใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพโดยผนวกกับระบบกึ่งอัตโนมัติที่กำลังพัฒนาต้นแบบจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 6,000-6,500 ชิ้นต่อเครื่อง ต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน คิดเป็น 360,000 – 390,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และมีคุณภาพดีเสมอกัน โดยเมื่อรวมกับเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบอัตโนมัติ และกึ่งอัตโนมัติแล้วสามารถเพิ่มกำลังการผลิตรวมได้มากกว่า 30% สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่ส่งไปให้โรงงานทดลองใช้เพิ่มกำลังผลิตยังทำอยู่ต่อเนื่อง และจะหาแนวทางการลดการหยิบจับ การรับส่งชิ้นงานให้น้อยลงด้วย

รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะยังอยู่ไปอีกสักระยะ ดังนั้นการเพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยที่ยังคงขาดแคลนต้องดำเนินการต่อ โดยในไทยยังมีโรงงานที่พบปัญหาแบบเดียวกัน หากโรงงานนี้ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้แล้ว เราสามารถกระจายความรู้นี้ส่งต่อไปยังโรงงานอื่นๆ ได้ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่ pr@mail.kmutt.ac.th

KMUTT lecturers assist Thai mask industry by innovating equipment and streamlining the process to boost production by 30%

A team of KMUTT researchers has teamed up with Thai Hospital Products Co., Ltd. to accelerate production for ensuring Thai people sufficient supply. The team has 4 members leading by Assoc. Prof. Dr. Bavornchok Poopat and Mr. Nopnarong Sirisatien, KMUTT lecturers at the Department of Production Engineering. Secondly, Mr. Paisal Tangchaisin is a former student of the Department of Production Engineering. Lastly, Mr. Thossaporn Bunthae is from The Institute of Field Robotics (FIBO).

Assoc. Prof. Dr. Bovornchok Poopat revealed the plan after working with the company to help plan and design special equipment to increase their output. Because of the uninterrupted production, the company runs its automatic machines, a semi-automatic machine, and 60 manual ultrasonic welding machines in 2 shifts to raise the output. The limitation of time for maintenance leads the team to work on the development of 60 manual ultrasonic welding machines rather than the automated machines which cannot afford interruption to make the least effect on the current production plan.

Workers have to manually feed ear loops into a manual ultrasonic welding machine and weld them together with a face mask which slows the process and requires certain skills. The skillful workers can have 4,800 pcs/8 hours while less skilled or new workers can produce only 1,200-2,000 pcs/8 hours and the quality has not been consistent. After the team helps the company to change the working procedure for the workers and install additional equipment, a new ultrasonic welder head, the production can be raised to 5,000-6,000 pcs/ 8 hours or a 50% growth of production capacity. If the prototype is fully developed, the output can be increased to 6,000-6,5000 pcs/machine/8hrs or 360,000-390,000 pcs/60 machines/8hrs. Besides, the total capacity of the new machine combines with both automatic and semi-automatic machines will be 30% higher.

อาจารย์สถาปัตย์ มจธ. พร้อมส่งต่อดีไซน์แบบสถานีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แยกพื้นที่การรอตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง

สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งได้รับเชื้อจากผู้ป่วยระหว่างทำการตรวจและรักษา เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างเช่น หน้ากากอนามัยแบบ N95 มีความขาดแคลน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคอื่น ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานดีไซน์แบบสถานีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 หรือ COVID-19 Test Station ที่เกิดจากการออกแบบของอาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ และ Dr. Martin Schoch อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า เริ่มแรกทางทีมได้ออกแบบตู้ชุดแรกเพื่อใช้สำหรับการตรวจแบบ Nasal Swab Test ซึ่งเป็นการตรวจสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และในบริเวณคอของผู้ป่วย ด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องเข้าใกล้ตัวผู้ป่วยมาก รวมถึงได้ทราบจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ว่าทุกขั้นตอนการตรวจคัดกรอง ตั้งแต่ก่อนตรวจ ระหว่างตรวจ และหลังการเข้ารับการตรวจนั้นล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีผู้มารอตรวจจำนวนมากทำให้เกิดความแออัด จึงคิดต่อเนื่องเป็นงานออกแบบของสถานีคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 โดยจะแบ่งเป็น 5 จุด 5 สถานีย่อย ดังนี้ จุดที่ 1 คือ ทำการประเมินว่าเป็นคนไข้ที่เข้าเกณฑ์การตรวจหรือไม่ จุดที่ 2 คือ จุดให้คำปรึกษาหลังจากที่ผ่านการประเมินเข้าเกณฑ์แล้ว จุดที่ 3 Swab Test การตรวจสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและในบริเวณคอ จุดที่ 4 จุดจ่ายยาสำหรับบรรเทาอาการเบื้องต้น ระหว่างรอผลตรวจ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ จุดที่ 5 จุดลงทะเบียนติดตามผล

อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่าปัจจุบันทางทีมได้ส่งมอบแบบไปยังโรงพยาบาลแล้ว ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท รพ.เทศบาลนครอุดรธานี กองวิศวกรรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เทศบาลนครนครสวรรค์ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เทศบาลนครพิษณุโลก และกลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมทางการแพทย์ รพ.ศรีสะเกษ และยินดีที่จะส่งมอบแบบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ โดยโรงพยาบาลสามารถนำไปปรับให้เข้ากับพื้นที่และงบประมาณของแต่ละโรงพยาบาลไปดำเนินการก่อสร้างได้เอง โดยจะมีทีมงานอาจารย์คอยให้คำปรึกษาในการนำแบบไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และมีประโยชน์สูงสุดต่อไป อีกทั้งยังได้ทำความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. นำตู้โทรศัพท์เก่ามาประยุกต์ใช้ โดยยึดหลักการที่ว่าทำอย่างไรที่จะใช้งานเป็นสถานีคัดกรองแบบประยุกต์นอกอาคาร เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่โรงพยาบาลชุมชน หน่วยงานสาธารณสุขที่ห่างไกล และต้องการสนับสนุนในช่วงวิกฤต โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ต้องการสอบถามข้อมูล ติดต่อได้ที่อีเมล sunaree.law@mail.kmutt.ac.th หรือ https://bit.ly/TOT-COVID-19-Test-Station

KMUTT architecture lecturers offer hospitals the COVID-19 patient screening sub-station design with specific zones to reduce risk of transmission

As the COVID-19 outbreak continues, healthcare workers become infected during testing and treatment for potentially infected people. While personal protective equipment such as the n95 mask is rare, the design for the COVID-19 test station by Ms. Sunaree Lawanyawatna and Dr. Martin Schoch, architecture lecturers from SoA+D: School of Architecture and Design from KMUTT, has been developed. It is said to help reduce the spread of the disease to medical staff and other hospital patients.

Ms. Sunaree Lawanyawatna, SoA+D: School of Architecture and Design, King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT) disclosed that earlier, the team designed a single booth for conducting a nasal swab. The swab is a method for collecting a test sample of nasal secretions from the back of the nose and the throat by using a polymerase chain reaction or PCR technique. Health care workers must be in very close contact with patients. She learned from interviews with doctors and experts that throughout the process of providing care, during and after the treatment, health care workers face the risks of infection. At each hospital, many patients are waiting, hence crowd gatherings occur. Out of this necessity, her continued ideas of five connected stations of COVID screening areas have emerged. The first station is to assess whether the patient meets the criteria for testing or not. The second is where health workers provide consultation after the assessment. Next is where the nasal swab-test takes place. The fourth is the medication dispensing substation for general symptoms while waiting for results such as painkillers and fever reducer. The last, the fifth substation is the registration point for follow-up.

Ms. Sunaree Lawanyawatna also added that drawing documentations of the design were provided to six hospitals, which are: Samitivej Sukhumvit Hospital, Udon Thani Municipality Hospital, Medical Engineering Division, Ministry of Health, Nakhon Sawan Municipality, Fort Somdej Phranaresuan Maharaj Hospital, Pitsanulok Municipality, Infrastructure and Medical Engineering Subdivision of Sri Saket Hospital, and Khanom Hospital, Nakhon Si Thammarat. The team continues to offer the design to more hospitals, which can be modified to suit the area, required use or budget of each hospital.

Together with the Institute of Field Robotics (FIBO) and TOT Public Company Limited, the team is cooperating on the adaptation of old phone booths for the screening and sample-taking purposes to assist the work of community hospitals and public health agencies in remote areas. Interested parties requiring more information can email sunaree.law@mail.kmutt.ac.th or visit https://bit.ly/TOT-COVID-19-Test-Station

มจธ.ขอเชิญชวนร่วมบริจาค สมทบทุนเพื่อพัฒนา จัดสร้าง และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เร่งด่วน

ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อพัฒนา จัดสร้าง และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เร่งด่วน

การบริจาคเงิน
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ.
ชื่อบัญชี “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี”
เลขที่บัญชี: 237-2-00006-3
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 1 เท่า

กรุณาส่งหลักฐานการบริจาค และขอรับใบเสร็จได้ที่ อีเมล: move@kmutt.ac.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.และไลน์: 092-465-8936

อาทิ
▪ อุปกรณ์ที่เป็นความดันลบสำหรับควบคุมเชื้อขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่น เตียงผู้ป่วยหมวกครอบศีรษะ เป็นต้น
▪ อุปกรณ์ป้องกันระหว่างการทำหัตถการ
▪ อุปกรณ์ฆ่าเชื้อทำความสะอาดหน้ากากอนามัยเครื่องพ่นละออง HPVฆ่าเชื้อชุด PPE, N95
▪ ตู้สำหรับเป็นจุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยก่อนเข้าโรงพยาบาล
▪ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น หากมีความต้องการโรงพยาบาลสนาม


สมทบทุนบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษา
ที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19
ทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้ และนักศึกษาไม่สามารถทำงานพิเศษในช่วงนี้ได้

การบริจาคเงิน
ธนาคารกรุงไทย สาขา ประชาอุทิศ บัญชีออมทรัพย์
ชื่อบัญชี “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – เงินรับบริจาค”
เลขที่บัญชี: 465-0-28217-9
สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 2 เท่า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา โทร. 0-2470-8185กลุ่มงานการระดมทุน โทร. 0-2470-8112


ร่วมบริจาคเพื่อข้าวสาร อาหารแห้ง และวัตถุดิบในการปรุงอาหาร
สำหรับการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

การบริจาคเงิน
ธนาคารกรุงเทพ
ชื่อบัญชี “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี”
เลขที่บัญชี: 037-7-00008-8

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานอำนวยการ โทร. 0-2470-8051, 081-303-6050


เราพร้อมร่วมมือผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน🇹🇭🇹🇭
“KMUTT believes in collective impact initiatives especially during the time of crisis.”

วิศวฯอุตสาหการ มจธ. แนะทองแดงมีสมบัติทำลายเชื้อโรคได้โดยธรรมชาติ

      อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แนะทองแดงสามารถทำลายเชื้อโรคได้โดยธรรมชาติหวังช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-ไนน์ทีน (Covid-19) หากนำมาประยุกต์ติดกับปุ่มลิฟต์โดยสาร เตรียมนำร่องที่ลิฟต์โดยสารภายในมจธ. และพร้อมให้คำแนะนำสำหรับหน่วยงานและผู้สนใจ

     ดร.ก้องเกียรติ ปุภรัตนพงษ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยการผลิตโลหะขั้นสูง (RCAMP) และอาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมหล่อโลหะและโลหการ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ในอดีตมีการนำทองแดงมาทำแก้วน้ำ ภาชนะใส่อาหาร ทำให้อาหารหรือน้ำนั้นไม่เสียง่าย โดยคนสมัยโบราณไม่ทราบว่าเกิดจากเหตุใด แต่ก็ใช้สืบทอดกันเรื่อยมา จนกระทั่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศเมื่อปี 1973 นักวิจัยพบว่าทองแดงสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งเป็นการค้นพบเชิงวิชาการครั้งแรกๆในโลก แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้ทองแดงทำภาชนะเพราะใช้ไปนานๆ จะเกิดสนิมสีเขียวทำให้ไม่สวย จึงหันไปใช้วัสดุอื่นมากกว่า เช่น ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู เครื่องใช้ต่างๆ นิยมใช้สแตนเลสเพราะสวยงามทำความสะอาดง่ายและเกิดสนิมได้ยากกว่า เป็นต้น ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการใช้ทองแดงกับอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องใช้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโรคจำนวนมากในต่างประเทศ ซึ่งการศึกษาประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทีมงานเราจึงศึกษาเพิ่มเติมและพบว่ามีงานวิจัยรองรับว่าทองแดงสามารถฆ่าเชื้อโรคได้จริง

     ทีมอาจารย์และนักวิจัย มจธ. ประกอบด้วย รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร, ดร.ศุภฤกษ์ บุญเทียร และ ดร.ก้องเกียรติ ปุภรัตนพงษ์ นำจึงนำแผ่นทองแดงมาประยุกต์เป็นปุ่มลิฟต์โดยสาร ซึ่งเป็นจุดที่จำเป็นต้องใช้นิ้วสัมผัสและจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อโรค หากมีเชื้อโรคอยู่บนพื้นผิววัสดุทองแดงทั้งจากน้ำลาย หรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่ติดอยู่ที่นิ้วมือที่สัมผัสกับปุ่มลิฟต์ เช่น แบคทีเรียหรือไวรัส จากงานวิจัยด้านชีววิทยาพบว่าอิออนของทองแดงจะเข้าไปทำลายลิพิด เมมเบรน (Lipid membrane) ของเชื้อโรคทำให้เชื้อโรคตายไปเองในที่สุด

     จากงานวิจัยปี 2015 ของประเทศอังกฤษ พบว่าไวรัสโคโรนาหากอยู่บนพื้นผิวทองแดง 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ไวรัสโคโรนาจะตายในเวลา 20 นาที ในขณะที่อยู่บนผิววัสดุอื่นไวรัสจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้นานมาก

     โดยข้อมูลล่าสุดปี 2020 มีผลงานวิจัยยืนยันว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 หากอยู่บนพื้นผิวทองแดงจะตายภายใน 4 ชั่วโมง ในสภาพอากาศเย็น แต่ประเทศไทยอากาศร้อนไวรัสอาจจะตายเร็วกว่านั้น

     ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการสนับสนุนชุดปุ่มลิฟต์ทองแดงบริสุทธิ์ 99.9 เปอร์เซ็นต์ สำหรับติดปุ่มลิฟต์โดยสาร จำนวน 12 ชุด จาก ว่าที่ร้อยตรีปพนสรรค์ ผ่องใส ซึ่งเป็นศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลัดธัญญปพน) ติดตั้งภายในมหาวิทยาลัย หากหน่วยงานใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่ 02-4709188 หรืออีเมล kongkiat.pup@gmail.com


KMUTT Production Engineers Hint Copper’s Natural Antiviral Properties

       Dr. Kongkiat Puparatanapong, Head of Research Center for Advanced Metal Processing (RCAMP) and lecturer at the Department of Production Engineering, Faculty of Engineering, KMUTT, together with the research team members including Assoc. Prof. Dr. Chaowalit Limmaneevichitr and Dr. Supareuk Boontien suggest using copper to fight back against Coronavirus disease or COVID-19.

        The outer structure or membrane of the coronavirus is like most viruses made of a lipid bilayer that houses proteins and enables the virus to attach itself to host cells. However, it can inactivate by the copper ions that contain natural antimicrobial and antiviral properties.

        Dr. Kongkiat Puparatanapong revealed that the research team conduct an additional study and discovered evidence confirmed the property to kill the virus. The research in 2015 and the recent medical study in 2020 show the time virus can be killed on the surface of over 90 percent copper.  Besides, pure copper foil can be used for this purpose as well. Therefore, the team studied to incorporate copper plate into elevator buttons, the touch surfaces easily contaminated and have a high risk of transmission. By doing so can reduce the risk of being infected.

        As a pilot project, 12 elevators at KMUTT installed the copper buttons provided by Acting Sub. Lt. Paponsan Pongsai (LUDTHUNYADAPON LIMITED PARTNERSHIP), who graduated from the Production Engineering Department. For more information or any inquiries please contact KMUTT at Tel. 02-4709188 or email: kongkiat.pup@gmail.com

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์”
ให้กับหุ่นยนต์ FIBO AGAINST COVID-19: FACO
เพื่อสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ร่วมกับภาคเอกชนได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นสิริมงคลสูงสุด
แก่คณะผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักศึกษาเก่า มจธ. และภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนา

มจธ. มุ่งมั่นบูรณาการความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี
เพื่อพัฒนางานที่มีคุณค่าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติตลอดไป