มจธ. ร่วมบริจาคกล่องที่ใช้แล้วรอบที่ 2 เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่งมอบกล่องลังที่ใช้แล้ว เป็นครั้งที่ 2 จำนวนรวมกว่า 300 กิโลกรัม ให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยมี คุณนิพนธ์ ดลสู่สุขหทัย หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์ราษฎร์บูรณะ คุณพิธาน ลำปอง ผู้ช่วยหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์ราษฎร์บูรณะ พร้อมด้วยคณะดำเนินงาน เป็นผู้รับมอบกล่องและลังกระดาษที่ใช้แล้ว ภายใต้โครงการ “ไปรษณีย์ re Box กล่อง Box บุญ” เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ต่อไป กิจกรรมดังกล่าวนี้ส่งเสริมแนวคิดและวิถีปฏิบัติที่ดีในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มนักศึกษา Green Heart เป็นแกนนำหลักในการประชาสัมพันธ์และดำเนินโครงการนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก องค์กร คณะ ภาควิชาต่างๆ บุคลากรนักศึกษา และประชาชนร่วมกันบริจาค กิจกรรมนี้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 12 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวแทนมดอาสาต้านภัยโควิด 19 มจธ. นำของบริจาคจากบริษัท ผลิดา จำกัด และบริษัทแอคท์ นาว ซิลเดรนส์ คอนซัลติ้ง จำกัด ส่งมอบให้กับ รพ.

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนมดอาสาต้านภัยโควิด 19 มจธ. นำของบริจาคจากบริษัท ผลิดา จำกัด และบริษัทแอคท์ นาว ซิลเดรนส์ คอนซัลติ้ง จำกัด อาทิ หน้ากาก N95 ชุดป้องกัน PPE น้ำยาฆ่าเชื้อ ผลิดภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย อาหารสำเร็จรูป ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 3 และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

มอบความช่วยเหลือชุมชนหมู่ 6 ในเขตทุ่งครุ ผ่านตู้ปันสุข

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนมดอาสาต้านภัยโควิด 19 มจธ. มอบความช่วยเหลือชุมชนหมู่ 6 ในเขตทุ่งครุ โดยนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ผ่านตู้ปันสุข รวมถึงได้สอบถามเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เชิญชวนร่วมแบ่งปันน้ำใจ บริจาคสิ่งของและของใช้จำเป็นเพื่อส่งต่อให้ชุมชน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ไข่ ยาแก้ไข้ สบู่ล้างมือ และขนมให้เด็กๆ ได้ที่ ชั้น 1 สำนักงานอธิการบดี มจธ. บางมด (ตลอด 24 ชั่วโมง)

หางาน-หาคน ช่วง COVID แชทมาเลยที่ Saku Bot: “สาคู กูรูงาน” บอทที่จะช่วยให้คุณ “หางาน” และ “หาคนทำงาน” ได้ง่าย ๆ

“สาคู กูรูงาน” จากผู้จัดทำ Covid Bot ที่ฮิตถล่มถลายทั่วไทยเเละต่างประเทศเมื่อตอนไวรัสระบาดใหม่ ๆ พวกเราก็ได้กลับมาอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาจาก COVID-19

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นำไปสู่การทุ่มเทสรรพกำลังความสามารถทางสาธารณสุขและทางการแพทย์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่รุนแรง ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้เป็นอย่างดี แต่ต้องแลกมาด้วยการหยุดกิจกรรมแทบทั้งหมดของผู้คน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการต่างๆนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง กิจการจำนวนมากต้องปิดตัวลง การค้าขายซบเซา ส่งผลให้มีคนตกงานจำนวนมากและเป็นการยากที่จะหางานใหม่เพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

พวกเราภูมิใจนำเสนอ “สาคู กูรูงาน” บอทที่จะช่วยให้คุณ “หางาน” และ “หาคนทำงาน” ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ให้ข้อมูลกับเราว่าคุณอยากได้งานแบบไหน อายุเท่าไหร่ อยู่บริเวณไหน ฯลฯ บอทก็จะทำการค้นหางานให้กับคุณอย่างทันทีทันใด เหมือนดั่ง Grab แห่งโลกการหางานนั่นเอง

คุยกับแชทบอทได้เลยตอนนี้ที่ : m.me/sakubot
https://www.facebook.com/sakubot

จากทีมผู้ร่วมงาน: Freak Lab (KMUTT), JSTP Scholarship Student Alumni, Codustry, Lukkid, MIT Media Lab, และ Upski

Hack the Crisis Thailand

Hack the Crisis Thailand (แฮควิกฤตโควิดไทย) คืองาน Hackathon ในรูปแบบ Online ที่จะชวนทุกคนมาร่วมกัน Hack หาทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 งานนี้ มีเป้าหมายที่จะรวมไอเดีย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ต้นฉบับผลิตภัณฑ์ และสื่อที่คนไทยได้คิดประดิษฐ์ขึ้น โดยมี 4 ประเด็นที่อยากชวนมาแก้ไข

  1. การสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ (Save our heroes)
  2. การส่งเสริมมาตรการลดการแพร่ระบาด (Flatten the Curve)
  3. การรีบฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน (Recover Our Community)
  4. การสื่อสารในภาวะวิกฤติ (Communication in Crisis)

เป็นเวทีเดียวที่จะดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ เปิดโอกาสที่จะได้นำความรู้มาปัดฝุ่น ติดอาวุธให้สมอง ได้ปล่อยของอย่างเต็มที่ ด้วยการระดมความคิด พิชิตปัญหา ฟอร์มทีมงานคุณภาพที่จะร่วมกันพลิกวิกฤติและก้าวผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน

สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี
เปิดรับสมัครวันนี้ถึงวันที่ 26 เมษายน 2563
ทั้งเข้าร่วม hackathon และ สมัครเป็น mentor
สมัครทาง www.hackathonthailand.com

โครงการตู้ปันสุข มดอาสาปันสุขในช่วงวิกฤต COVID 19

ตู้ปันสุข โดย มดอาสาปันสุขในช่วงวิกฤต COVID-19 เปิดให้บริการแล้ววันนี้

ร่วมแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ป้องกันตนเอง อาทิ เช่น เจลแอลกอฮอล์ น้ำดื่ม อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และสิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

จุดรับบริจาค สำหรับบุคลากร มจธ.
ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี
(หลังจากนั้นจะมีมดอาสานำของที่ท่านบริจาคไปกระจายที่ตู้ปันสุข)
หรือท่านสามารถบริจาคได้ที่จุดตู้ปันสุข

ตู้ปันสุขมีให้บริการ 3 จุด
จุดที่ 1 หน้าประตูทางเข้า-ออก มหาวิทยาลัย
จุดที่ 2 หอพักหญิง มจธ.
จุดที่ 3 หอพักชาย มจธ.

ร่วมกันแบ่งปันและส่งต่อกำลังใจให้กับทุกคนในยามวิกฤตนี้ ผ่าน ” ตู้ปันสุข “

โครงการระดมทุนจัดหาอาหารช่วยคนว่างงานจากสถานการณ์ COVID-19 และโครงการสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษจากเกษตรกรในชุมชนรอบ มจธ. ราชบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ นักศึกษาเก่า มจธ. หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ดำเนิน “โครงการระดมทุนจัดหาอาหารช่วยคนว่างงานจากสถานการณ์ COVID-19” โดยร่วมสนับสนุนอาหารกลางวัน และข้าวสารอาหารแห้งให้กับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย และสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษจากเกษตรกรในชุมชนรอบ มจธ. ราชบุรี

ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 – 22 พฤษภาคม 2563 ร่วมนำอาหารปรุงสำเร็จแจกจ่ายแก่ประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัย

โครงการดังกล่าว นอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) แล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารภายใน มจธ. ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดมหาวิทยาลัย และยังได้ช่วยเกษตรกรในชุมชนบริเวณ มจธ. ราชบุรี ที่ประสบปัญหาในการขายผลผลิต และผลผลิตราคาตกต่ำ ซึ่งจะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ ขอขอบคุณบุคลากร นักศึกษาเก่า มจธ. ผู้ประกอบการทุกท่านที่ร่วมสมทบบริจาคทุนทรัพย์ โดยสามารถบริจาคอาหารแห้ง หรือ ร่วมสมทบทุนบริจาคเงิน ได้ที่ บัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 037-7-00008-8 และสอบถามหรือยืนยันข้อมูลการบริจาคเพิ่มเติมได้ที่ คุณฉันทนา ภู่ธราภรณ์ โทร. 0-24708051 หรือ 081-3036050

โครงการพัฒนาธุรกิจหลังวิกฤติ COVID-19 สู่ความยั่งยืน

โครงการพัฒนาธุรกิจหลังวิกฤติ COVID-19 สู่ความยั่งยืน
สำหรับนักศึกษาเก่า/นักศึกษาปัจจุบัน มจธ. ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

  • เรียนรู้ออนไลน์
  • ปรึกษาเบื้องต้นกับผู้เชี่ยวชาญ
  • Workshop แนวคิดธุรกิจหลังวิกฤติ

BANGMOD MARKETPLACE

BANGMOD MARKETPLACE
ขายสนุก ช้อปสนั่น จับมือกันพ้นวิกฤต

พื้นที่ชุมชนออนไลน์ เปิดให้กับประชาคม มจธ. เสนอสินค้าบริการที่หลากหลาย ไม่จำกัดประเภท อาทิ เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย
เครื่องประดับ บริการบ้านพัก บริการด้านไอที บริการด้านสื่อโฆษณาและการตลาด

พึ่งพาและเกื้อกูลกันในช่วงภาวะวิกฤต

กลุ่มเฟชบุ๊ก: Bangmod Marketplace

นักวิจัย มจธ. ร่วมกับทีมแพทย์สร้าง ‘COVID BOT’ AI Chatbot ตัวช่วยประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19

ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ทีมแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลต้องรองรับจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ความวิตกกังวลของคนในสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งสำคัญคือ วิธีการที่สามารถช่วยลดความวิตกกังวล รวมทั้งสามารถคัดกรองเบื้องต้น ทำให้จำนวนผู้ที่ไม่เข้าข่าย หรือไม่มีอาการเข้าไปรับการตรวจลดลง ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว และรักษาทรัพยากรทางการแพทย์ได้ทำหน้าที่ได้อย่างประสิทธิภาพสูงสุดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

รศ. ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ประธานหลักสูตรนาโน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าทีมคลัสเตอร์วิจัยนวัตกรรมอนาคต (Futuristic Research Cluster of Thailand หรือ FREAK Lab ) ร่วมมือทีมโปรแกรมเมอร์ และทีมแพทย์ที่เป็นศิษย์เก่าของ Junior Science Talent Project (JSTP) หรือ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน ได้ร่วมมือในการพัฒนา ‘COVID BOT’ ซึ่งเป็นแชตบอตตัวช่วยในการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 ผ่านหมอ (เสมือนจริง) ในระบบ AI ผ่านทาง https://www.facebook.com/covid19bot โดยหลักการในการประเมินความเสี่ยงและข้อแนะนำในแชตบอตเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์

รศ. ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย กล่าวว่า เราอยู่ในยุคดิจิทัลและผู้คนส่วนใหญ่ก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การสอบถามอาการผ่านโทรศัพท์สายด่วนอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะคนมักคิดไม่ออกว่าโทรไปแล้วจะเริ่มประโยคแรกว่าอะไร และจะคุยอย่างไรต่อ ผมและคณะทำงานจึงคิดเร่งสร้างเครื่องมือนี้ขึ้น เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ทั้งใช้ในแง่ของการสื่อสารและการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ซึ่งในขณะนั้น (ช่วงต้นเดือนมีนาคม) ยังไม่มีเครื่องมือคัดกรองบนแพลทฟอร์มดิจิทัล หรือโซเชี่ยลมีเดียออกมา ลักษณะการทำงานของแชตบอตก็จะเหมือนกับการไปโรงพยาบาล พบหมอเพื่อประเมินความเสี่ยง เมื่อคุณคลิกตอบไปเรื่อยๆ ท้ายสุดก็จะมีผลประเมินออกมาให้คุณทราบทันที ในกรณีที่ขึ้นคำตอบว่า ‘คุณมีโอกาสเสี่ยง’ ก็จะมีคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับคุณ พร้อมข้อปฏิบัติตนระหว่างอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง หลังจากนั้น 1 วันจะมีการแชตกลับมาติดตามอาการต่อ หรือหากไม่เป็นอะไร ก็จะมีคำแนะนำที่เข้าใจง่ายให้กับคุณ แต่หากคำตอบคือ ‘เสี่ยงมากๆ’ ก็ควรไปพบแพทย์ โดยแนะนำให้โทรไปที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งรถพยาบาลมารับ แทนที่จะเดินทางเข้าโรงพยาบาลไปด้วยตัวเอง เพราะนั่นคุณอาจจะกำลังเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับคนอื่นทันที

รศ. ดร.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ‘COVID BOT’ จะสามารถช่วยได้อย่างดีในกรณีที่หากมีการแพร่ระบาดและผู้คนเริ่มแพนิก พร้อมใจกันไปโรงพยาบาล โดยที่หนึ่งในนั้นอาจจะมีผู้ติดเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัวปะปนอยู่ คนนั้นจะเป็นผู้ส่งต่อเชื้อได้ และที่โรงพยาบาลก็จะกลายเป็นสถานที่แพร่เชื้อให้กับคนได้อีกจำนวนมาก ดังนั้นเครื่องมือนี้จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อีกทางหนึ่ง เรามี ‘COVID BOT’ ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้มีผู้ใช้งานในวงกว้างออกไปกว่า 58 ประเทศ และมีหลายประเทศขอนำแชตบอตนี้ไปปรับใช้อีกด้วย

ทีมงานพัฒนา
• รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย (FREAK Lab, Sensor Technology Lab – KMUTT, JSTP)
• นายณัฐชนน นินยวี (Codustry.com, FREAK Lab)
• นายพัทน์ ภัทรนุธาพร (Massachusetts Institute of Technology – MIT, ศิษย์เก่า JSTP)
• นพ.กฤษพร สัจจวรกุล (ศิษย์เก่า JSTP)
• พญ.แจ่มจันทร์ จันทร์แจ้ง (ศิษย์เก่า JSTP)
• นพ.พีรวัศ กาญจนเบญจา (ศิษย์เก่า JSTP)
• พญ.ฐิติกานต์ วังอาภากุล (ศิษย์เก่า JSTP)
• นพ.พร้อมพงศ์ โยธาราษฎร์ (ศิษย์เก่า JSTP)
• ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ (สถาบันการเรียนรู้ มจธ, ศิษย์เก่า JSTP)
• นายปองณัฐ เครือศรี (FREAK Lab, มจธ.)